เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ช่วงเช้ากรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้นำคณะนักการทูตแรกเข้าจากกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาเข้าศึกษาดูงาน ณ โรงพยาบาลสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีนางสาวขนิษฐา ปานรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบบริการแรงงานต่างด้าว โรงพยาบาลสมุทรสาคร และนางสาวจุฑามาศ รัตนจันทร์ รองหัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาคุณภาพและรูปแบบบริการ สสจ.สมุทรสาคร พร้อมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและอาสาสมัครชาวเมียนมาให้การต้อนรับ
ในโอกาสนี้คณะผู้ฝึกอบรมได้ศึกษาดูงานและรับฟังภารกิจการดูแลด้านสาธารณสุขแก่แรงงานต่างด้าวซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของไทย และบทบาทของอาสาสมัครแรงงานต่างด้าวในระบบสาธารณสุขของไทย ที่ช่วยเป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างบุคลากรด้านสาธารณสุขกับผู้ป่วยทั้งในโรงพยาบาลและในชุมชน ซึ่งฝ่ายเมียนมาได้แสดงความขอบคุณทางการไทยที่ให้การดูแลแรงงานชาวเมียนมารวมทั้ง สนใจสอบถามเกี่ยวการดูแลแรงงานต่างด้าวในช่วงโควิด-19 ซึ่งโรงพยาบาลได้แจ้งว่ามีสิทธิด้านสาธารณสุขของแรงงานต่างด้าวที่เท่าเทียมกับคนไทย เนื่องจากแรงงานชาวเมียนมาได้หักเงินเดือน 5 % เข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน หรือซื้อประกันสุขภาพรายปีจากกระทรวงสาธารณสุข
นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมการให้บริการแก่แรงงานต่างด้าวและรับชมการแสดงของลูกหลานชาวเมียนมาที่เกิดในไทยและอยู่ในการดูแลของศูนย์ดูแลเด็กของโรงพยาบาลด้วยในช่วงบ่ายนักการทูตแรกเข้าชาวเมียนมาได้เยี่ยมชมและศึกษาดูงานที่เรือนจำชั่วคราวเขากลิ้งซึ่งถูกจัดตั้งให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงโดยกรมราชทัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเรือนจำชั่วคราวเขากลิ้งนี้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษได้ฝึกวิชาชีพที่สุจริตและมั่นคงเพื่อสร้างรายได้หลังพ้นโทษแล้ว
ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง มีพื้นที่ 600 ไร่ และมีฐานการเรียนรู้กว่า 30 ฐาน เช่น การปลูกสร้างบ้านดิน การบริการทำความสะอาดรถยนต์ การเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น กวาง กระต่าย แกะ แพะ โค กระบือ ร้านขายของว่างและเครื่องดื่ม นักการทูตเมียนมาได้ให้ความสนใจฐานการปลูกสร้างบ้านดิน โดยได้เรียนรู้การทำก้อนอิฐดินดิบและวิธีผสมก้อนดิน และฐานการทำการเกษตร เนื่องจากเมียนมาและไทยมีสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกัน และสนใจสอบถามเกี่ยวกับการสร้างรายได้ให้แก่ผู้ต้องขัง รวมทั้ง ได้อุดหนุนอาหารว่างและเครื่องดื่มที่ทำโดยผู้ต้องขังอีกด้วย นอกจากนี้ นักการทูตเมียนมาได้แสดงความประทับใจในการถ่ายทอดความรู้ผ่านฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ และวัตถุประสงค์ของศูนย์ฯ ที่มีขึ้นเพื่อช่วยเหลือนักโทษให้พร้อมกลับคืนสู่สังคม