วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ส.ค. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 ส.ค. 2565
เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๕ นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ไปติดตามความก้าวหน้าโครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืนตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่วิทยาลัยเทคนิคกสิกรรมดงคำช้าง นครหลวงเวียงจันทน์ โดยมี ท่านหนูพัน อุดสา หัวหน้ากรมอาชีวศึกษา ท่านกมกอน สิดทิจัก รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคกสิกรรมดงคำช้าง และครูอาจารย์ของวิทยาลัยให้การต้อนรับ
อธิบดีกรมอาชีวศึกษากล่าวต้อนรับและแจ้งว่า เศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานให้คนไทย เป็นแนวทางที่มีความเหมาะสมกับ สปป.ลาว เพื่อใช้แก้ปัญหาความยากจนของประชาชนบรรดาเผ่าต่าง ๆ ใน สปป.ลาว ทำให้มีทักษะ/มีองค์ความรู้ด้านการเกษตร และสามารถลดต้นทุนการผลิตอื่น ๆ เพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่พอเพียง ไม่ใช่แค่พออยู่พอกิน แต่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ ลดต้นทุนการผลิต เรียนรู้เกี่ยวกับการดำรงชีวิตในสภาพสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ และนำใช้วัสดุในธรรมชาติที่มีอยู่ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม ซึ่งรัฐบาล สปป.ลาว เห็นผลสำเร็จของการการนำฐานเรียนรู้ที่อยู่ในศูนย์เรียนรู้ฯ นี้ สอดแทรกในระบบการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษาเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการเกษตรให้ทั้งนักเรียนและประชาชนที่สนใจได้ รวมทั้งเป็นการตอบโจทย์การพัฒนา สปป.ลาว โดยฉพาะนโยบายการเกษตรสีเขียว และการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนและบรรดาเผ่าต่าง ๆ ใน สปป.ลาว ได้ จึงได้เสนอให้ขยายผลไปยังวิทยาลัยอาชีวศึกษาในแขวงต่าง ๆ
อธิบดีกรมความร่วมมือฯ ขอบคุณสำหรับการต้อนรับและเห็นว่า ศูนย์เรียนรู้ฯ ที่ สปป.ลาว เป็นความสำเร็จของการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเผยแพร่ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมอย่างมาก โดยเริ่มจากที่วิทยาลัยกสิกรรมดงคำช้างฯ เมื่อรัฐบาลลาวเห็นว่า การดำเนินงานโครงการแบบนี้ช่วยแก้ปัญหาความยากจน และตอบโจทย์การพัฒนาประเทศของลาว จึงได้ขยายโครงการไปยังแขวงต่างๆ รวมเป็น ๖ แขวง แม้ว่าในขณะนี้ จะส่งมอบโครงการที่เสร็จสิ้นแล้ว ๓ แห่ง แต่ยังเห็นถึงความจำเป็นที่จะต่อยอดกิจกรรมในวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม เช่น การจัดฝึกอบรมให้ผู้บริหารวิทยาลัย/โรงเรียนเพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เข้ากับบริบทและสถานการณ์การพัฒนาตามแนวทาง SEP และ BCG Model เพื่อให้ศูนย์เรียนรู้ฯ เป็นศูนย์เรียนรู้ที่แท้จริง หรืออาจจะต่อยอดโครงการเช่นที่แขวงคำม่วน ซึ่ง สอท. ณ เวียงจันทน์ มีแผนที่จะต่อยอดโครงการทำประมงในน้ำกร่อย ทั้งนี้ อธิบดีกรมความร่วมมือฯ ยังเชื่อมั่นไว้ โครงการด้านการพัฒนาการเกษตรของไทยที่ทำใน สปป.ลาว จะตอบสนองนโยบายของรัฐบาลลาว โดยเฉพาะนโยบายเกษตรสีเขียวอย่างยั่งยืนอีกด้วย
ศูนย์เรียนรู้ฯ ที่วิทยาลัยกสิกรรมดงคำช้างแห่งนี้ ได้เริ่มโครงการ เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๙ มีเนื้อที่ ๕ เฮกตาร์ หรือ ๓๑.๒๕ ไร่ และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๐ มีฐานเรียนรู้ ๒๒ ฐานเรียนรู้ และเป็นต้นแบบการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักศึกษาแล้วยังมีการประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ต่อให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ด้วย ซึ่งการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ฯ กสิกรรมดงคำช้างมีความสำเร็จเป็นรูปธรรม ได้มีการขยายผลการดำเนินการไปยังโครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืนตามแนวทาง SEP ให้แก่วิทยาลัยเทคนิค – วิชาชีพ แขวงคำม่วน และโรงเรียนเทคนิค - วิชาชีพแบบผสม แขวงเซกอง และได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการที่วิทยาลัย/โรงเรียนเทคนิคอื่น ๆ ใน สปป.ลาว อีก ๓ แห่ง (แขวงบ่อแก้ว แขวงไซยะบูลี และแขวงอัดตะปือ) รวมเป็น ๖ แห่ง โดยโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีก ๓ แห่ง เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย – ลาว ระยะ ๓ ปี (ปี ๒๕๖๓-๒๕๖๕) สาขาการศึกษาและกีฬา
รูปภาพประกอบ