การประชุม Regional Forum on “Mekong-RoK Cooperation Seeking Synergies in the Mekong Sub-region”

การประชุม Regional Forum on “Mekong-RoK Cooperation Seeking Synergies in the Mekong Sub-region”

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 มิ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 มิ.ย. 2565

| 1,098 view

เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๕ นายชีวินท์ ณ ถลาง รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุม Regional Forum on “Mekong-RoK Cooperation Seeking Synergies in the Mekong Sub-region” ผ่านการประชุมระบบออนไลน์ ซึ่งร่วมจัดโดย Mekong Institute (MI) และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย ณ โรงแรม Shangri-La โดยมีผู้แทนกลุ่มประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่สำคัญของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย ตลอดจนผู้แทนภาควิชาการและธุรกิจเข้าร่วมด้วย

การประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานะและทิศทางการดำเนินงานของกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีทั้งสิ้น ๑๓ กรอบ ตลอดจนหารือแนวทางการประสานงานของหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Development Partners) กับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยที่ประชุมเห็นว่า ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถรับมือกับความท้าทายในภูมิภาคได้เพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการ จึงจำเป็นจะต้องผสานการทำงานร่วมกัน แทนการเผชิญหน้า รวมถึงมุ่งไปสู่การดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอย่างสมดุล ทั้งในด้านการบริหารจัดการแม่น้ำโขง การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ และประเด็นด้านการพัฒนาในสาขาต่าง ๆ ผ่านการดำเนินงานที่โปร่งใสและมีธรรมาภิบาล โดยอาศัยเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นของผู้นำประเทศลุ่มแม่น้ำโขงต่อการนำข้อริเริ่มที่กำหนดโดยประเทศในอนุภูมิภาค (home-grown initiatives) ไปดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและแสวงหาหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นความสำคัญของการรักษาพลวัตของกลไกความร่วมมือที่มีอยู่ให้เดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะกรอบ ACMECS รวมถึงการจัดการข้อมูลในสาขาต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ

ในโอกาสนี้ รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้ร่วมเป็นผู้อภิปรายในหัวข้อ “Sustainable Development in Mekong Region” โดยได้ย้ำความสำคัญอย่างยิ่งที่ไทยให้กับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงซึ่งไทยพร้อมทำงานร่วมและเป็นสะพานเชื่อมระหว่างประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและองค์กรต่าง ๆ ในการดำเนินความร่วมมือกับอนุภูมิภาคนี้ในสาขาที่ไทยเชี่ยวชาญ และเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 คลี่คลาย โดยมุ่งเสริมความมั่นคงและความคุ้มกันใน ๔ ด้าน ได้แก่ ความมั่นคงด้านสุขภาพ ด้านอาหาร ด้านอาชีพ ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมถึงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ เพื่อการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน สมดุล และสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ ตามที่วางไว้

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ