การหารือร่วมกับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

การหารือร่วมกับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ก.พ. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 701 view

วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ นำคณะเจ้าหน้าที่เข้าพบหารือกับ รศ. ดร. ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พร้อมทั้ง ที่ปรึกษามหาวิทยาลัย คณบดี คณะผู้บริหาร คณาจารย์ของสำนักวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อกระชับความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ในการดำเนินงาน ตลอดจนโอกาสการขยายความร่วมมือกันในอนาคต รวมทั้งข้อเสนอหลักสูตรเพื่อประกอบการเตรียมการจัดทำแผน ๓ ปีฉบับใหม่ (๒๕๖๖-๒๕๖๘) สำหรับทุนศึกษาระดับปริญญาโทนานาชาติ (Thailand International Postgraduate Programme: TIPP) และทุนฝึกอบรมนานาชาติ (Annual International Training Course: AITC)

ทั้งนี้ กรมฯ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ดำเนินความร่วมมือด้านทุนศึกษานานาชาติอย่างต่อเนื่องโดยในปี ๒๕๖๓ ได้ร่วมสนับสนุนทุนศึกษาระดับปริญญาโทนานาชาติ ๒ หลักสูตร ได้แก่ Master of Science Program in Postharvest Technology and Innovation และหลักสูตร Master of Public Health Program in Border Health Management และปี ๒๕๖๔ ร่วมสนับสนุนหลักสูตร Master of Arts Program in International Development ส่วนใน ๒๕๖๕ ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ยังคงยืดเยื้อ ทั้งสองหน่วยงานมีกำหนดร่วมจัดหลักสูตร AITC รูปแบบออนไลน์ในหลักสูตร Advanced in Beauty Technology: Thai Spa and Aesthetic Produtโดยร่วมกันสนับสนุนและจัดหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติ (TIPP) ในหลักสูตร Master of Science Program in Innovation Food Science and Technology

โอกาสนี้ คณะผู้แทนกรมฯ ได้หารือลู่ทางความร่วมมือด้านการให้ทุนและความร่วมมือทางวิชาการด้านพืชสมุนไพร สำหรับกิจกรรมการจัดฝึกอบรมการพัฒนาแพทย์ทางเลือก และสมุนไพร ภายใต้แผนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย - เปรู ระยะ ๓ ปี (๒๕๖๔ - ๒๕๖๖) กับผู้บริหารสำนักวิชาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยฯ อาทิ สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ และสำนักวิชานวัตกรรม โดยคณะผู้แทนของกรมฯ ได้เสนอให้มหาวิทยาลัยฯ พิจารณาสาขาที่แต่ละคณะมีความเชี่ยวชาญและสอดคล้องกับทิศทางนโยบาย/ประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญในปัจจุบัน อาทิ BCG Economy การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ การบรรลุ SDGs และการนำผลวิจัยไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อกรมฯ พิจารณาให้การสนับสนุนรูปแบบที่เหมาะสม

นอกจากนี้ คณะได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร โรงงานผลิตยาสมุนไพร และอาคารแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อต่อยอดความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างทั้ง ๒ หน่วยงานต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ