กิจกรรม “ส่งขยะกำพร้ากลับบ้าน” ครั้งที่ ๗

กิจกรรม “ส่งขยะกำพร้ากลับบ้าน” ครั้งที่ ๗

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 2,066 view

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมมือกับบริษัท เอ็น 15 เทคโนโลยี จำกัด จัดโครงการ “ส่งขยะกำพร้ากลับบ้าน” ครั้งที่ ๗ ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ โดยมี นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ นางสาวพิณ ศรีดุรงคธรรม เลขานุการกรม และจิตอาสาของ TICA เข้าร่วมกิจกรรมด้วย ณ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ หลักสี่

โครงการส่งขยะกำพร้ากลับบ้านเป็นการรับบริจาคขยะกำพร้าแบบ drive thru เริ่มเวลา ๐๙.๐๐ -๑๒.๐๐ น นอกจากขยะกำพร้าจาก TICA แล้ว มีขยะกำพร้าจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และประชาชนในละแวกใกล้เคียงได้นำขยะกำพร้ามาร่วมบริจาค รวมมีรถเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน ๑๘๔ คัน น้ำหนักขยะ ๓,๖๔๐ กิโลกรัม

ขยะกำพร้าที่ได้รับจากการบริจาคครั้งนี้จะถูกนำกลับไปที่บ้าน คือ ที่โรงงานของ บริษัท เอ็น 15 เทคโนโลยี จำกัด เพื่อผ่านกระบวนการ คัดแยก บดย่อย และบีบอัด เป็น “เชื้อเพลิงขยะ” และจะถูกส่งไปใช้เป็นเชื้อเพลิงที่โรงงานผลิตไฟฟ้าและโรงงานปูนซีเมนต์ซึ่งสามารถทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลได้ และการจัดกิจกรรมครั้งที่ ๗ มีกลุ่ม Plaplus ซึ่งเป็น Startup ที่ทำเกี่ยวกับการ Recycle พลาสติก ได้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อรับแก้วพลาสติกแบบ Bioplastic กล่องข้าวไมโครเวฟที่ใช้แล้ว และพลาสติกต่าง ๆ เพื่อนำไปหลอมเป็นเส้นหรือเป็นเม็ดเพื่อขึ้นรูปใหม่ หรือทำเป็นสารบำรุงดิน นำมาผสมกับปุ๋ยใช้ปลูกต้นไม้ มาร่วมรับบริจาคด้วย

สำหรับกิจกรรมครั้งที่ ๗ ถือได้ว่าเป็นการครบรอบ 1 ปี ที่ TICA ได้จัดโครงการส่งขยะกำพร้ากลับบ้าน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เริ่มจากกลุ่มคนเล็ก ๆ ในครอบครัวของเจ้าหน้าที่ TICA ขยายไปสู่หน่วยงานทั้งภายใน-นอกศูนย์ราชการ และประชาชนที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะปัญหาการจัดการขยะ นอกจากตระหนักแล้วยังเป็นการลงมือทำเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการขยะที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งในปัจจุบันได้มีการส่งต่อข้อมูลและมีการรับขยะที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น แยกแก้ว-พลาสติก หรือถ่านไฟฉาย เพื่อนำไปจัดการอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ โครงการส่งขยะกำพร้ากลับบ้านเป็นการสนับสนุนการสร้างกลไกให้เกิดการนำทรัพยากรกลับมาใช้ประโยชน์ ลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัด ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้ BCG Model โดยสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะ โดยมุ่งเน้นจัดการ ณ ต้นทาง สร้างมูลค่าในห่วงโซ่การจัดการขยะ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ