ข้อมูลความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคและภูมิภาค : กรอบภูมิภาค

ข้อมูลความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคและภูมิภาค : กรอบภูมิภาค

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ส.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 49,109 view

แผนโคลัมโบ (Colombo Plan)

              ตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๔๙๓ โดยการริเริ่มของประเทศเครือจักรภพ ๗ ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือเพื่อยกระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยมีสำนักงาน ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกแผนโคลัมโบตั้งแต่ปี๒๔๙๗ ปัจจุบันแผนโคลัมโบ ประกอบด้วยสมาชิก ๒๖ ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน ออสเตรเลีย บังกลาเทศ ภูฎาน บรูไน ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ลาว มาเลเซีย มัลดีฟส์ มองโกเลีย พม่า เนปาล นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ศรีลังกา ไทย เวียดนาม และสหรัฐฯ การดำเนินงานแผนโคลัมโบได้ปรับเปลี่ยนบทบาทโดยเน้นการประสานงาน และร่วมมือกับประเทศสมาชิก ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งจัดฝึกอบรมและสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน ในด้านทรัพยากรมนุษย์และการเพิ่มทักษะให้แก่บุคลากรของประเทศสมาชิก

 

กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC)

              เอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation - APEC) คือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก กรอบความร่วมมือนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ เพื่อตอบสนองต่อภาวะการพึ่งพาซึ่งกันและกันของเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิกที่ เพิ่มมากขึ้น จาก จุดเริ่มต้นด้วยการหารืออย่างไม่เป็นทางการในระดับรัฐมนตรีด้วยสมาชิกเพียง ๑๒ ราย เอเปคได้พัฒนาจนกลายมาเป็นเวทีในระดับภูมิภาคที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเอเปคได้เริ่มจัดการพบปะระหว่างผู้นำเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นต้นมา ปัจจุบัน เอเปคมีสมาชิก ๒๑ เขตเศรษฐกิจ มีประชากรรวมกันประมาณ ๒,๕๐๐ ล้านคน (ประมาณ ร้อยละ ๔๒ ของประชากรโลก) มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติรวมกันกว่า ๑๘ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี ๒๕๔๔ และการค้าระหว่างประเทศกว่า ร้อยละ ๖๙ ของไทยเป็นการค้ากับสมาชิกเอเปค ด้วยศักยภาพข้างต้น เอเปคได้กลายมาเป็นพลังผลักดันการค้าแบบเปิดและความร่วมมือทางเศรษฐกิจและ วิชาการอย่างแท้จริง โดยวัตถุประสงค์ของเอเปคมีเป้าหมายในการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นประชาคมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในแต่ละปี ผู้นำและรัฐมนตรีเอเปกจะมาพบกันเพื่อทบทวนความ คืบหน้าของการดำเนินงาน และกำหนดเป้าหมายวัตถุประสงค์หลักของความร่วมมือในปีต่อๆ ไป เป้าหมายที่โดดเด่นที่สุดอันหนึ่งของเอเปค คือ "เป้าหมายโบกอร์" ที่จะส่งเสริมการเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาค เอเชีย-แปซิฟิก โดยเริ่มจากสมาชิกที่พัฒนาแล้วภายใน ปี ๒๕๕๓ และสำหรับสมาชิกกำลังพัฒนาที่เหลือภายในปี ๒๕๖๓ โบกอร์เป็นชื่อของเมืองชายทะเลตั้งอยู่บนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒ เมื่อปี ๒๕๓๗ เอ เปคไม่เหมือนองค์กรอื่น เช่น สหประชาชาติ ที่ต้องมีการลงคะแนนเสียงในกระบวนการ ตัดสินใจบางครั้ง หรือองค์การการค้าโลกที่ประเทศสมาชิกต่างพยายามปกป้องผลประโยชน์ด้านการค้า ของตนอย่างเต็มที่ แต่เอเปคดำเนินการบนพื้นฐานของฉันทามติ ความสมัครใจ และการดำเนินการใน กรอบเวลาที่ต่างกัน นอกจากนี้เอเปคยังเป็นองค์กรที่มีลักษณะพิเศษตรงที่สามารถคุยกันในเรื่องของ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการระหว่างสมาชิกที่พัฒนาแล้วกับสมาชิกที่ กำลังพัฒนาได้

 

การประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting – ASEM)

ภูมิหลัง

              ๑. สิงคโปร์และฝรั่งเศสได้ริเริ่มการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting – ASEM) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นเวทีสำหรับผู้นำประเทศเอเชียและประเทศยุโรปพบปะหารือเกี่ยวกับ ประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ ขยายความร่วมมือ และเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกัน ASEM โดยเป็นเวทีสำหรับการหารือ (dialogue) มากกว่าการเจรจา เพื่อให้มีผลบังคับใช้เป็นรูปธรรม โดยครอบคลุม ๓ เสาหลัก ได้แก่ ๑) การเมือง ๒) เศรษฐกิจ และ ๓) สังคม วัฒนธรรม และอื่นๆ ทั้งนี้ ASEM เป็นกรอบความร่วมมือระดับผู้นำกรอบเดียวระหว่างภูมิภาคเอเชียและภูมิภาค ยุโรปในขณะนี้

              ๒. ปัจจุบัน ASEM ประกอบด้วยสมาชิก ๔๖ ประเทศ และ ๒ องค์การ ได้แก่ ประเทศสมาชิกฝ่ายยุโรป ๒๗ ประเทศ ประเทศสมาชิกฝ่ายเอเชีย ๑๖ ประเทศ ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มอาเซียน ๑๐ ประเทศ และกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียใต้ (Northeast and South Asia – NESA) 6 ประเทศ ประเทศสมาชิกฝ่าย Temporary Third Category ๓ ประเทศ และองค์การระดับภูมิภาค ๒ องค์การ

              ๓. ASEM ไม่มีสำนักเลขาธิการ แต่ประสานงานผ่านผู้ประสานงาน (Coordinator) ปัจจุบัน ผู้ประสานงานฝ่ายยุโรป ได้แก่ ประธานสหภาพยุโรป (เดนมาร์ก) และ กระทรวงการต่างประเทศ EU (European External Action Service - EEAS) กลุ่มอาเซียน ได้แก่ สปป. ลาว (วาระ ๒ ปี และครบวาระในปี ๒๕๕๕) และกลุ่ม NESA ได้แก่ ปากีสถาน (วาระ ๑ ปี และครบวาระในปี ๒๕๕๖)

              ๔. การประชุมผู้นำ ASEM กำหนดจัดขึ้นทุก ๒ ปี โดยประเทศสมาชิก ASEM ฝ่ายยุโรปและฝ่ายเอเชียสลับกันเป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้ การประชุมผู้นำ ASEM ได้จัดขึ้นแล้ว ๘ ครั้ง โดยการประชุมผู้นำ ASEM ๑ จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑ – ๒ มีนาคม ๒๕๓๙ ณ กรุงเทพฯ ล่าสุด การประชุมผู้นำ ASEM ๘ จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๔ – ๕ ตุลาคม ๒๕๕๓ ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม และการประชุมผู้นำ ASEM ๙ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๕ - ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ณ เวียงจันทน์

              ASEM ๑ เมื่อวันที่ ๑ – ๒ มี.ค. ๒๕๓๙ ณ กรุงเทพฯ

              ASEM ๒ เมื่อวันที่ ๓ – ๔ เม.ย. ๒๕๔๑ ณ กรุงลอนดอน

              ASEM ๓ เมื่อวันที่ ๑๙ – ๒๑ ต.ค. ๒๕๔๓ ณ กรุงโซล

              ASEM ๔ เมื่อวันที่ ๒๒ – ๒๔ ก.ย. ๒๕๔๕ ณ กรุงโคเปนเฮเกน

              ASEM ๕ เมื่อวันที่ ๗ – ๙ ต.ค. ๒๕๔๗ ณ กรุงฮานอย

              ASEM ๖ เมื่อวันที่ ๑๐ – ๑๑ ก.ย. ๒๕๔๙ ณ กรุงเฮลซิงกิ

              ASEM ๗ เมื่อวันที่ ๒๔ – ๒๕ ต.ค. ๒๕๕๑ ณ กรุงปักกิ่ง

              ASEM ๘ เมื่อวันที่ ๔ – ๕ ต.ค. ๒๕๕๓ ณ กรุงบรัสเซลส์

              ASEM ๙ จะจัดวันที่ ๕ - ๖ พ.ย. ๒๕๕๕ ณ เวียงจันทน์

              ๕. ความร่วมมือด้านการเมือง

              ๕.๑ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ ASEM (Foreign Ministers’ Meeting – ASEM FMM) ในอดีต การประชุม ASEM FMM ได้จัดขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ASEM FMM ๖ เมื่อวันที่ ๑๗ – ๑๘ เมษายน ๒๕๔๗  ณ เมือง Kildare ไอร์แลนด์ ได้มีมติให้จัดการประชุม ASEM FMM ขึ้นทุก ๒ ปี โดยจัดสลับกับการประชุมผู้นำ ASEM ทั้งนี้ การประชุม ASEM FMM ได้จัดขึ้นแล้ว ๑๐ ครั้ง โดยการประชุม ASEM FMM ๑๐ ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๖ – ๗ มิถุนายน ๒๕๕๔ ณ กรุงบูดาเปสต์ และการประชุม ASEM FMM ๑๑ จะจัดขึ้นในปี ๒๕๕๖ ณ อินเดีย

              ๕.๒ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ASEM (Senior Officials’ Meeting – ASEM SOM) กำหนดที่จะจัดขึ้นตามความจำเป็น อย่างน้อยที่สุดปีละ ๒ ครั้ง ก่อนการประชุม ASEM FMM และการประชุมผู้นำ ASEM การประชุม ASEM SOM ครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ ณ กรุงโตเกียว เพื่อพิจารณาเรื่อง ASEM Working Methods และการขยายสมาชิกภาพ ASEM ซึ่งยังเป็นประเด็นสำคัญที่คั่งค้างของ ASEM และการประชุมครั้งต่อไปจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑ - ๒ มีนาคม ๒๕๕๕ ณ กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก เพื่อเตรียมความพร้อมการจัดการประชุม ASEM ๙

              ๕.๓ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือด้านการเมือง อาทิ การประชุม ASEM Conference on Counter-Terrorism ซึ่งได้จัดขึ้นแล้ว ๙ ครั้ง โดยการประชุมฯ ครั้งที่ ๙ ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๓ ธ.ค. ๒๕๕๔ ณ  เมืองยอกยาการ์ตา อินโดนีเซีย และการประชุม Informal ASEM Seminar on Human Rights ได้จัดขึ้นแล้ว ๑๑ ครั้ง ล่าสุด การประชุมฯ ครั้งที่ ๑๑ ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเชก และการประชุมฯ ครั้งที่ ๑๒ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 มิถุนายน 2555 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

              ๖. ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

              ๖.๑ การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ASEM (ASEM Economic Ministers’ Meeting – EMM) กำหนดที่จะจัดขึ้นทุก ๒ ปี ทั้งนี้ การประชุม ASEM EMM ได้จัดขึ้นแล้ว ๖ ครั้ง โดยการประชุม ASEM EMM 6 ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 – 17 กันยายน 2548 ณ เมือง Rotterdam เนเธอร์แลนด์

              ๖.๒ การประชุมรัฐมนตรีคลัง ASEM (ASEM Finance Ministers’ Meeting – ASEM FinMM) ได้จัดขึ้นแล้ว ๙ ครั้ง โดยการประชุม ASEM FinMM ๙ ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๗ – ๑๘ เมษายน ๒๕๕๓ ณ กรุงมาดริด สเปน ล่าสุด สิงคโปร์เสนอที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEM FinMM ๑๐ (รอยืนยัน)

              ๖.๓ การประชุมรัฐมนตรีธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ASEM (ASEM Small and Medium Enterprises (SMEs) Ministerial Meeting) ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม – ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ณ กรุงปักกิ่ง และเมือง Qingdao สาธารณรัฐประชาชนจีน

              ๖.๔ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการค้าและการลงทุน ASEM (Senior Officials’ Meeting on Trade and Investment – ASEM SOMTI) ได้จัดขึ้นแล้ว ๑๑ ครั้ง โดย ASEM SOMTI ๑๑ ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ – ๑๖ เมษายน ๒๕๕๑ ณ เมือง Maribor ประเทศสโลวีเนีย ล่าสุด ได้มีการจัดการประชุม Informal ASEM SOMTI เมื่อวันที่ ๑๕ – ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม และ สปป. ลาวได้เสนอที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEM SOMTI ๑๒ (รอยืนยัน)

              ๖.๕ การประชุมรัฐมนตรีพลังงาน ASEM (ASEM Ministerial Conference on Energy Security) ได้จัดขึ้นแล้ว ๑ ครั้ง โดยการประชุมฯ ครั้งที่ ๑ ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๗ – ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๒ ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม

              ๖.๖ การประชุมรัฐมนตรีคมนาคม ASEM (ASEM Transport Ministers’ Meeting) ได้จัดขึ้นแล้ว ๒ ครั้ง โดยการประชุมฯ ครั้งที่ ๑ ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๙ – ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๒ ณ กรุงวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนีย และการประชุมฯ ครั้งที่ ๒ ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๔ - ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๔ ณ เมืองเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน

              ๖.๗ การประชุมอธิบดีศุลกากร ASEM (ASEM Customs Directors General / Commissioners’ Meeting) ได้จัดขึ้นแล้ว ๙ ครั้ง โดยการประชุมฯ ครั้งที่ ๑ ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุยายน ๒๕๓๙ ณ เมือง Shenzhen สาธารณรัฐประชาชนจีน และการประชุมฯ ครั้งที่ ๙ ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๑ – ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๔ ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 

              ๖.๘ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการคลัง อาทิ ASEM Anti Money Laundering Initiative Official Launch เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๕ ณ กรุงเทพฯ และการประชุมสภาธุรกิจเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Business Forum – AEBF) ครั้งที่ ๑๒ เมื่อวันที่ ๔ – ๕ ตุลาคม ๒๕๕๓ ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม

              ๗. ความร่วมมือด้านสังคม วัฒนธรรม และอื่นๆ

              ๗.๑ การประชุมรัฐมนตรีวัฒนธรรม ASEM (ASEM Cultural Ministers’ Meeting) ได้จัดขึ้นแล้ว ๔ ครั้ง โดยการประชุมฯ ครั้งที่ ๔ ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๙ – ๑๐ กันยายน ๒๕๕๓ ณ เมือง Poznan โปแลนด์ และการประชุมฯ ครั้งที่ ๕ จะจัดขึ้นในปี ๒๕๕๕ ณ อินโดนีเซีย

              ๗.๒ การประชุมรัฐมนตรีศึกษาธิการ ASEM (ASEM Education Ministers’ Meeting) ได้จัดขึ้นแล้ว ๓ ครั้ง โดยการประชุมฯ ครั้งที่ ๓ ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๙ – ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ณ กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก และการประชุมฯ ครั้งที่ ๔ จะจัดขึ้นในปี ๒๕๕๖ ณ มาเลเซีย

              ๗.๓ การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม ASEM (ASEM Environment Ministers’ Meeting) ได้จัดขึ้นแล้ว ๓ ครั้ง โดยการประชุมฯ ครั้งที่ ๓ ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๓ - ๒๖ เมษายน ๒๕๕๐ ณ กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์กและการประชุมฯ ครั้งที่ ๔ จะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ ณ กรุงอูลานบาตอร์ มองโกเลีย (รอยืนยัน)

              ๗.๔ การประชุมรัฐมนตรีแรงงาน ASEM (ASEM Labour and Employment Ministers’ Meeting) ได้จัดขึ้นแล้ว ๓ ครั้ง โดยการประชุมฯ ครั้ง ๓ ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๓ ณ เมือง Leidenเนเธอร์แลนด์ และการประชุมฯ ครั้งที่ ๔ มีกำหนดจะจัดขึ้นในปี 2555 ณ เวียดนาม (รอยืนยัน)

              ๗.๕ การประชุมรัฐมนตรีเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ASEM (ASEM Information and Communication Technology (ICT) Ministerial Meeting) ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน – ๑ ธันวาคม ๒๕๔๙ ณ กรุงฮานอย เวียดนาม

              ๗.๖ การประชุม ASEM Interfaith Dialogue (ASEM IFD) ได้จัดขึ้นแล้ว ๗ ครั้ง โดยไทยร่วมกับเนเธอร์แลนด์เป็นเจ้าภาพการประชุม ASEM IFD ๔ เมื่อวันที่ ๓ – ๕ มิถุนายน ๒๕๕๑ ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ล่าสุด การประชุม ASEM IFD ๗ ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๔ ณ กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์

 

กรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD)

              ๑. ภูมิหลัง

              แนวคิด ACD ริเริ่มเมื่อปี ๒๕๔๕ เพื่อเป็นเวทีหารือระดับนโยบายระหว่างประเทศในเอเชียมีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเป็นเอเชีย ตลอดจนความร่วมมือในวงกว้าง โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและศักยภาพที่หลากหลายของประเทศสมาชิกเป็นหลัก

              ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา ACD มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในมิติต่าง ๆ โดย ACD ได้ขยายสมาชิกภาพจาก ๑๘ ประเทศก่อตั้ง เป็น ๓๑ ประเทศจากทุกอนุภูมิภาคของทวีปเอเชีย และมีการขยายกรอบสาขาโครงการซึ่งประเทศสมาชิกเสนอตัวเป็นผู้ขับเคลื่อน/ร่วม ขับเคลื่อน (Prime/Co-Prime Mover) ใน ๒๐ สาขา

              ๒. ผลการประชุมรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ ๑๐ ที่ประเทศคูเวต (๑๐ - ๑๑ ต.ค. ๒๕๕๔)

              ที่ประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ ๑๐ ที่ประเทศคูเวต (๑๐ - ๑๑ ต.ค. ๒๕๕๔) ได้หารือในประเด็น “Towards a better future for Asian Cooperation”  และประเทศสมาชิกได้ให้ความเห็นชอบต่อเอกสาร Kuwait Declaration  ซึ่งมีสาระสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในเอเชียในหลายสาขา อาทิ เศรษฐกิจ การค้า การคลัง วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งการให้ความสำคัญต่อการประชุมอย่างต่อเนื่องระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ เชี่ยวชาญของประเทศสมาชิก รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องบรรลุการรวมตัวทางเศรษฐกิจของ ACD เพื่อให้ได้มาซึ่งการแข่งขันที่เป็นธรรม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการพัฒนาเศรษฐกิจ

              ๓. บทบาทและท่าทีไทย

              ไทย เป็นผู้ริเริ่ม ACD และได้รับความไว้วางใจจากประเทศสมาชิกให้รับหน้าที่ ACD Coordinator  อีกทั้งยังเป็นผู้ขับเคลื่อนความร่วมมือในสาขาการท่องเที่ยว การเงินการคลัง และผู้ร่วมขับเคลื่อนสาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อีกด้านหนึ่งด้วย

              นอกเหนือจากข้อตกลงตามปฎิญญาข้างต้น ไทยให้ความสำคัญของความเชื่อมโยง (connectivity) ทั้งในระดับอนุภูมิภาค และการเชื่อมโยงแต่ละภูมิภาคเข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ACD โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมของเอเชียในระดับ people-to-people โดยการทำความรู้จักกันและกันให้มากยิ่งขึ้น ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการศึกษาความเชื่อมโยงทางกายภาพของเอเชีย รวมทั้งการศึกษาแลกเปลี่ยนด้านประวัติศาสตร์/วัฒนธรรมของชาติเอเชียตามรอย เส้นทางสายไหม

              ๔. กิจกรรมที่ไทยเคยเป็นเจ้าภาพในกรอบ ACD

              ๑) ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ ๑ และ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ และ ๒๕๔๖ ต่อมาประเทศสมาชิกที่เป็นประธาน ACD ในแต่ละปี ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ

              ๒) The 1st ACD Tourism Business Forum, ๒๒ - ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ที่ จ. ภูเก็ต

              ๓) The 2nd ACD Tourism Business Forum, ๑๘ - ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ที่ จ. เชียงใหม่

              ๔) ACD High-Level Seminar on “Enhancing Financial Cooperation through Asian Bond Market Development”, ๒๔ - ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๙ ที่กรุงเทพฯ

              ๕) ACD Think Tanks Symposium : ๑๕ - ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๗ ที่กรุงเทพฯ

              เมื่อวันที่ ๑๒ ม.ค. ๒๕๕๕  กระทรวงการต่างประเทศได้จัดประชุมระดมสมองเพื่อทบทวนบทบาทและทิศทางของไทยใน กรอบ ACD ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมต่างสนับสนุนแนวคิดที่จะฟื้นฟูความร่วมมือในกรอบ ACD ขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการพัฒนาทุนมนุษย์ ความร่วมมือด้านการศึกษา และการท่องเที่ยว นอกจากนั้น ยังเห็นว่า ความร่วมมือกับประเทศสมาชิก ACD ในสาขาพลังงาน การเกษตร การศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ SMEs เป็นสาขาที่น่าจะเอื้อประโยชน์กับไทยโดยตรง