ข้อมูลความร่วมมือไตรภาคีกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา : UNFPA

ข้อมูลความร่วมมือไตรภาคีกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา : UNFPA

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ส.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 8,771 view

ความร่วมมือระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ
(United Nations Population Fund – UNFPA)

ข้อมูลทั่วไป

วิธีการดำเนินงานความร่วมมือ

    ๑. ความร่วมมือไตรภาคี

รูปแบบการดำเนินงานความร่วมมือ

    ๑. โครงการ

    ๒. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (หลักสูตรฝึกอบรม)

    ๓. การประชุมเชิงวิชาการ

    ๔. การจัดทำสื่อและสิ่งพิมพ์

ความร่วมมือทางวิชาการในปัจจุบัน

๑) ไตรภาคี

  • ประเทศไทยมีความร่วมมือทางวิชาการกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Population Fund (UNFPA) มากกว่า ๕๐ ปี ความร่วมมือดังกล่าวทำให้ไทยสามารถยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบบริการด้านสาธารณสุขดีขึ้นจนติดอันดับโลกอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการพัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์ (Reproductive Health) การพัฒนาสุขภาพมารดา (Safe Motherhood) การปันผลประชากร (Population Dividend) การวางแผนครอบครัว (Family Planning) การประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับอนามัยการเจริญพันธุ์ (Universal Health Coverage for Reproductive Health) การป้องกันและลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (Adolescent Pregnancy Prevention and Reduction) และการป้องกันและลดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะ HIV/AIDS (HIV Prevention and reduction) และการลดอัตราการติดเชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูก (Elimination of mother-to-child transmission of HIV)
  • การพัฒนาที่เกิดจากความร่วมมืออย่างยาวนานและใกล้ชิดนี้ ทำให้ไทยเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่สามารถเผยแพร่ตัวอย่างที่ดีและเป็นไปตามมาตรฐานสากลของไทยให้แก่ประเทศอื่น ๆ ซึ่งได้รับความชื่นชมและเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชื่อเสียงของไทยในเวทีโลกได้ โดยในระยะเวลา ๑๐ ปี (ระหว่าง ๒๕๒๓ - ๒๕๓๓) ไทยมีสถิติอัตราการเสียชีวิตของมารดาขณะคลอดบุตรลดลงกว่าร้อยละ ๘๓ โดยในปี ๒๕๖๒ มีอัตราการตายของมารดาต่อการเกิดมีชีพแสนคนเหลือเพียงร้อยละ ๑๙.๘ (ข้อมูลจากกรมอนามัย http://dashboard.anamai.moph.go.th/dashboard/mmr/index?year=2019)
  • กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้เริ่มมีโครงการกับ UNFPA เพื่อการแบ่งปันประสบการณ์กับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในลักษณะความร่วมมือใต้-ใต้ และไตรภาคี (South-South and Triangular Cooperation) ตั้งแต่ปี ๒๕๑๕ โดยกิจกรรมความร่วมมือที่ผ่านมามีทั้งการจัดฝึกอบรม การตีพิมพ์เอกสารเผยแพร่ให้ความรู้ การจัดศึกษาดูงาน การเสริมสร้างศักยภาพบุคลากร การสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ และงบประมาณ ซึ่งสะท้อนการปรับเปลี่ยนบทบาทของไทยจากผู้รับมาเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกับ UNFPA เพื่อการแบ่งปันประสบการณ์กับประเทศต่าง ๆ โดยมีตัวอย่างกิจกรรมที่ดำเนินการแล้ว ได้แก่

๑) โครงการความร่วมมือไตรภาคีไทย-UNFPA-ภูฏาน “Project on Strengthening Institutional Capacity on Maternal Health Program” ระยะเวลา ๓ ปี ๒๕๕๕-๒๕๕๗ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของมารดาและบุตรในภูฏาน และโครงการความร่วมมือไตรภาคีไทย-UNFPA-สปป. ลาว “Project on Strengthening Midwifery Educators and Institutions” ระยะเวลา ๓ ปี ๒๕๕๘-๒๕๖๐ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรด้านการผดุงครรภ์และสาธารณสุขและลดอัตราการเสียชีวิตของมารดาและบุตรใน สปป. ลาว โดยจากการประเมินผลสำเร็จของโครงการฯ ใน สปป. ลาว ด้วยวิธี Social Return on Investment (SROI) พบว่าทุกการลงทุน ๑ ดอลลาร์สหรัฐ จะสร้างมูลค่าทางสังคมที่มีค่าเทียบเท่า ๔ ดอลลาร์สหรัฐ

๒) เมื่อปี ๒๕๖๑ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกับ UNFPA ประจำประเทศไทยเปิดตัวเครือข่ายความร่วมมือเพื่อลดสาเหตุการเสียชีวิตของมารดา (UNFPA - Thailand South-South Solution Network /Hub on Making Motherhood Safer) โดยเป็นการรวมตัวของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และสภาการพยาบาล ซึ่งเป็นสถาบันที่มีความรู้และมาตรฐานสากล เพื่อสร้างให้ไทยเป็นแหล่งความรู้ที่เป็นเลิศ (center of excellence) อย่างเป็นระบบ และในปีเดียวกันได้จัดการประชุม “South-South Cooperation Solution on Preventable Causes of Maternal Health Meeting & Workshop” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมจากหลากหลายประเทศและภาคส่วน ได้แบ่งปันประสบการณ์และแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อส่งเสริมสุขภาพและลดอัตราการตายของมารดา รวมทั้งสร้างเครือข่ายผู้ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องระหว่างประเทศกำลังพัฒนา และโอกาสในการมีความร่วมมือกันต่อไป

๓) ในปี ๒๕๖๒ ไทยและ UNFPA ได้ร่วมมือกับเครือข่ายฯ จัดหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติด้านการลดอัตราการเสียชีวิตของมารดาและบุตรโดยเร็ว การส่งต่อผู้ป่วย และการสร้างความตระหนักและความเข้าใจแก่คนในชุมชนเพื่อดูแลมารดาและเด็ก ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังคลอดให้ลูกอยู่รอดและแม่ปลอดภัย ดังนี้ ๑) หลักสูตร “International Training Course on Sustainable Community Health Development through Community Health Volunteers: Monitoring, Evaluation, and Supervision” ซึ่งจัดโดยคณะพยาบาลศาสตร์ ม. เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ ๓-๒๑ มิ.ย. ๒๕๖๒ ณ จ. เชียงใหม่ และ ๒) หลักสูตร “The Fast Track Model Toward Reducing Maternal Mortality” ซึ่งจัดโดยคณะพยาบาลศาสตร์ ม. ขอนแก่น ระหว่างวันที่ ๒-๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๒  ณ จ. ขอนแก่น

๔)  นอกจากนี้ เมื่อเดือน พ.ย. ๒๕๖๒ ไทยโดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุม Reference Group (RG) เพื่อให้ข้อคิดเห็นต่อการจัดทำ Midterm Review (MTR) ของ UNFPA 11th Country Programme (2027-2021) ซึ่งจะช่วยพัฒนาและปรับปรุงการทำงานของ UNFPA ในประเทศไทยให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก และการประชุมนานาชาติ “Nairobi Summit on International Conference on Population and Development (ICPD) 25: Accelerating the Promise” เพื่อฉลองการครบรอบ ๒๕ ปี ของ ICPD ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา             

สถานะ ณ วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๓

ภารกิจความร่วมมือหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศ