เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ร้อยโท สรวุฒิ ปรีดีดิลก อัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ปฏิบัติหน้าที่ที่กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ นำคณะผู้แทนจากประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกที่เข้าร่วมการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) สมัยที่ 79 (CS79) เดินทางไปศึกษาดูงานโครงการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นต้นแบบของการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ณ ฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และธนาคารปูม้าชุมชนหาดเจ้าฯ - แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี
ในโอกาสนี้ นายประพัฒน์ กอสวัสดิ์พัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพชรบุรี ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ และนำคณะผู้แทนจากประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกฯ จากประเทศต่าง ๆ อาทิ ซามัว ฟิจิ ปาปัวนิวกินี วานูอาตู ตองกา ตูวาลู ปาเลา และหมู่เกาะคุก นำโดย Ms. Fiame Naomi Mata’afa นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐเอกราชซามัว เยี่ยมชมตามจุดเรียนรู้ต่าง ๆ ได้แก่ จุดสาธิตการเลี้ยงสัตว์ทะเล (การจัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกลางแจ้ง) จุดสาธิตการผลิตเกลือและน้ำทะเลผงธรรมชาติ จุดสาธิตการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น จุดสาธิตการเลี้ยงสัตว์ทะเลในโรงเพาะฟักสัตว์น้ำเค็ม และร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ ซึ่งแปรรูปมาจากสัตว์น้ำและผลผลิตอื่น ๆ ภายในฟาร์ม
นอกจากนี้ คณะศึกษาดูงานได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมธนาคารปูม้าชุมชนหาดเจ้าฯ - แหลมผักเบี้ย ซึ่งเป็นชุมชนชาวประมงชายฝั่งที่รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรปูม้าในรูปแบบของธนาคารปู เพื่อเพิ่มจำนวนปูม้าในธรรมชาติให้มีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร และร่วมกันปล่อยแม่ปูม้าไข่นอกกระดองคืนสู่ทะเล เพื่อให้ไข่ที่กำลังจะฟักเป็นตัวอ่อนได้เจริญเติบโตเป็นปูม้าขนาดใหญ่ต่อไป
อนึ่ง ฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และธนาคารปูม้าชุมชนหาดเจ้าฯ - แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี เป็นหนึ่งในโครงการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นต้นแบบของการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายที่ ๑๔ การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ร่วมกับองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลไปพร้อมกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวประมงท้องถิ่น ให้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้นและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน