วันที่นำเข้าข้อมูล 7 มิ.ย. 2567
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 7 มิ.ย. 2567
เมื่อวันที่ ๒๙ – ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๗ นายไพฑูรย์ มหาพัณณาภรณ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ (และในฐานะประธานคณะมนตรีแผนโคลัมโบ) นำคณะผู้แทนไทยประกอบด้วยนางอรุณี ไฮม์ม รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่กรมความร่วมมือระหว่างประเทศเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาแผนโคลัมโบ ครั้งที่ ๔๘ (The Colombo Plan 48th Consultative Committee Meeting: CCM) ณ กรุงอูลานบาตอร์ สาธารณรัฐมองโกเลีย
แผนโคลัมโบก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๔๙๔ เป็นองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล (Intergovernmental organisation) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก มีสำนักเลขาธิการตั้งอยู่ที่กรุงโคลัมโบ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา และปัจจุบันมีสมาชิก ๒๘ ประเทศ โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกแผนโคลัมโบตั้งแต่ปี ๒๔๙๗ และมีบทบาทที่แข็งขันในการดำเนินกิจกรรมภายใต้แผนงานของแผนโคลัมโบเรื่อยมา
ในการประชุม CCM ครั้งที่ ๔๘ ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานภายใต้แผนงานต่าง ๆของแผนโคลัมโบภายหลังจากการประชุม CCM ครั้งก่อนหน้าเมื่อปี ๒๕๖๔ และหารือแผนการดำเนินงานในระยะเวลาสองปีข้างหน้า ปัจจุบันแผนโคลัมโบดำเนินงานภายใต้แผนงานหลัก ๕ แผนงาน ได้แก่ (๑) แผนงานด้านยาเสพติด (Drug Advisory Programme: DAP) (๒) แผนงานด้านสตรีและเด็ก (Gender Affairs Programme: GAP)(๓) แผนงานด้านการเสริมสร้างศักยภาพ (Capacity Building Programme: CBP) (๔) แผนงานด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Environment and Climate Change Programme: ENV) และ (๕) แผนงานด้านความร่วมมือทางทะเล (Maritime Advisory Programme) โดยที่ประชุม CCM ยินดีกับความก้าวหน้าและความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมภายใต้แผนงานเหล่านี้ในช่วงระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา
ในโอกาสการประชุม CCM ครั้งนี้ รองอธิบดีอรุณีฯ ได้นำเสนอผลการดำเนินงานที่โดดเด่นของไทยภายใต้แผนงานด้านการเสริมสร้างศักยภาพของแผนโคลัมโบ เพื่อพัฒนาโอกาสการจ้างงานและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศสมาชิก โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยประสานงานหลักของไทยกับแผนโคลัมโบได้สนับสนุนการจัดหลักสูตรฝึกอบรมมากกว่า ๒๐ หลักสูตร ให้แก่ประเทศสมาชิกแผนโคลัมโบอย่างต่อเนื่องระหว่างปี ๒๕๕๕ – ๒๕๖๖ ในสาขาต่าง ๆ อาทิ การบริหารจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน การเกษตรยั่งยืน การส่งเสริมศักยภาพของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ความเท่าเทียมทางเพศ การส่งเสริมศักยภาพของสตรี และการจัดการป่าไม้ที่สนับสนุนการบรรลุ SDGs
นอกจากนี้ รองอธิบดีอรุณีฯ กล่าวว่าไทยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมภายใต้แผนงานด้านการเสริมสร้างศักยภาพของแผนโคลัมโบต่อไป พร้อมทั้งประกาศการสนับสนุนการจัดหลักสูตรฝึกอบรมโดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ให้แก่ประเทศสมาชิกแผนโคลัมโบในปี ๒๕๖๘ จำนวน ๒ หลักสูตร ในสาขาที่ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญ
รูปภาพประกอบ