ผู้แทนกรมความร่วมมือฯ เข้าร่วมพิธีเปิดและสังเกตการณ์การฝึกอบรมร่วมกับ JICA ให้แก่ประเทศที่สาม (Third Country Training Programme) หลักสูตร Energy Resilience Assessment: Towards Climate Adaptable Energy Systems ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ผู้แทนกรมความร่วมมือฯ เข้าร่วมพิธีเปิดและสังเกตการณ์การฝึกอบรมร่วมกับ JICA ให้แก่ประเทศที่สาม (Third Country Training Programme) หลักสูตร Energy Resilience Assessment: Towards Climate Adaptable Energy Systems ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ก.พ. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 ก.พ. 2567

| 342 view

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00 น. นางสาวพัชรา โกศินานนท์ ผอ. กองความร่วมมือด้านทุน ได้เข้าร่วมพิธีเปิดและสังเกตการณ์การฝึกอบรมร่วมกับ JICA ให้แก่ประเทศที่สาม (Third Country Training Programme) หลักสูตร Energy Resilience Assessment: Towards Climate Adaptable Energy Systems ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ โดยมี รศ. ดร. ชาตรี มณีโกศล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ Mr. SUZUKI Kazuya, Chief Representative of JICA, Thailand Office และ ดร. นุวงศ์ ชลคุป ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยพลังงานคาร์บอนต่ำ (ENTEC) ในฐานะผู้แทนหน่วยงานที่จัดหลักสูตร กล่าวต้อนรับในพิธีเปิดหลักสูตร โดยหลักสูตรดังกล่าวจัดระหว่างวันที่ 19 – 23 กุมภาพันธ์ 2567 มีผู้รับทุนเข้าร่วมอบรม จำนวน 16 ราย จากประเทศกลุ่มเป้าหมาย 5 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ติมอร์-เลสเต และไทย

การจัดฝึกอบรมดังกล่าวเป็นความร่วมมือหุ้นส่วนระหว่างไทย – ญี่ปุ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน สร้างระบบพลังงานที่ยั่งยืนและพร้อมเผชิญกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค ในหลักสูตรอบรมมีกำหนดการให้ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมเยี่ยมชมสถานีผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและสร้างเครือข่ายระหว่างกันต่อไป

นอกจากนี้ ผู้รับทุนแต่ละประเทศได้นำเสนอ Country report ของแต่ละประเทศ ได้แก่ (1) อินโดนีเซีย นำเสนอเกี่ยวกับภารกิจของ Research Center for Advanced Materials, National Research and Innovation Agency (BRIN) ในการวิจัยเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (2) มาเลเซีย นำเสนอเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันวิจัยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy Research Institute, Malaysia) (3) ติมอร์-เลสเต นำเสนอภาพรวมของภูมิประเทศ และการจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ (Disaster Risk Management) (4) ไทย นำเสนอเกี่ยวกับภาพรวมแผนงานเพื่อการใช้พลังงานที่ยั่งยืนและโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) และ (5) เมียนมา นำเสนอเกี่ยวกับภารกิจกระทรวงพลังงาน แนวคิด 3 E+S และสถานการณ์ด้านพลังงานหมุนเวียนในเมียนมา

หลังพิธีเปิดฯ รศ. ดร. วัชรพงษ์ วัฒนกูล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้นำ Mr. Georges Kodjo ผู้รับทุนชาวเบนิน ภายใต้โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ณ สาธารณรัฐเบนิน (SEP) ซึ่งกำลังศึกษาระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มาพบ ผอ. กองทุน และได้ร่วมหารือถึงการศึกษา ความเป็นอยู่ และความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่ง Mr. Georges Kodjo ให้ข้อมูลว่า แนวคิดของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ให้ดีขึ้น รวมทั้งต่อประเทศเบนินด้วย โดยเมื่อสำเร็จการศึกษาในเดือนมิถุนายนแล้ว จะรายงานเรื่องการเรียนให้หน่วยงานต้นสังกัดทราบ รวมทั้งจะนำความรู้ที่ได้รับระหว่างการศึกษาและการไปใช้ชีวิตกับชาวบ้านที่หมู่บ้านห้วยตอง (โครงการหลวง) ไปใช้ที่ชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ อาทิ การไม่ใช้สารเคมี ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการนำเงินที่ไม่ซื้อสารเคมีไปใช้ในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ