พิธีเปิดหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (AITC) “SEP: A Model of Sustainable Empower in a Resilient "Global" (Global & Local)”

พิธีเปิดหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (AITC) “SEP: A Model of Sustainable Empower in a Resilient "Global" (Global & Local)”

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 พ.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 พ.ค. 2567

| 355 view

เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๗ นางสาวพัชรา โกศินานนท์ ผู้อำนวยการ กองความร่วมมือด้านทุน เป็นผู้แทนกรมความร่วมมือระหว่างประเทศเดินทางไปยังโรงแรมท็อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเข้าร่วมกล่าวในพิธีเปิดหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Courses - AITC) 2567 ในหัวข้อ “SEP: A Model of Sustainable Empower in a Resilient "Global" (Global & Local)” ซึ่งจัดโดยศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านประชาคมอาเซียนศึกษา โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาณุ พุทธวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ในฐานะผู้แทนจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกล่าวเปิดหลักสูตรด้วย

หลักสูตร AITC เป็นหนึ่งในความร่วมมือด้านทุนที่รัฐบาลไทยให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ภายใต้แผนความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ ระยะ ๓ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๖๘) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีผู้รับทุนจำนวน ๑๙ ราย จาก ๑๔ ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ยูกันดา เคนยา โอมาน กานา อียิปต์ ปานามา ภูฏาน คอซอวอ กัมพูชา จอร์เจีย จอร์แดน ลาว และบังกลาเทศที่เข้าร่วม

นอกจากนี้ ผู้แทนกรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้ประชุมหารือกับ รองศาสตราจารย์ ดร. อุษา พัดเกตุ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศ พร้อมกับอาจารย์ที่ปรึกษาของผู้รับทุนและเจ้าหน้าที่ ในระหว่างการตรวจเยี่ยมผู้รับทุนรัฐบาลไทย ภายใต้โครงการทุนรัฐบาลไทยหลักสูตรศึกษาระดับปริญญาโทนานาชาติ (Thailand International Postgraduate Programme: TIPP) และโครงการทุนศึกษาระดับปริญญาโท (ทวิภาคี) ไทย - ภูฏาน ซึ่งกำลังศึกษาที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จำนวนทั้งสิ้น ๖ ราย ได้แก่ ประเทศบอตสวานา ๑ ราย ศรีลังกา ๒ ราย มัลดีฟส์ ๑ ราย และภูฏาน ๒ ราย

โอกาสนี้ทั้งสองฝ่ายได้หารือแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงการจัดทำแผนความร่วมมือด้านทุนฝึกอบรม (AITC) และทุนศึกษา (TIPP) รอบถัดไป (พ.ศ. ๒๕๖๙-๒๕๗๑) ทั้งนี้ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายภาษาต่างประเทศ กล่าวชื่นชมนิสิตทั้ง ๖ ราย และขอบคุณกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่สนับสนุนมหาวิทยาลัยนเรศวรในการรับนิสิตชาวต่างชาติ และหวังว่าจะได้รับโอกาสนี้ และยินดีให้ความร่วมมือระหว่างกันต่อไป

ซึ่งการดำเนินงานด้านทุนทั้ง ๒ รูปแบบเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนนโยบายทางการทูตในรูปแบบ Soft Diplomacy ที่รัฐบาลไทยใช้เป็นเครื่องมือในการผลักดันยุทธศาสตร์การต่างประเทศเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมศักยภาพของหน่วยงาน สถาบันการศึกษาของไทยในการจัดหลักสูตรนานาชาติให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติและเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางความร่วมมือเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระดับภูมิภาคในสาขาที่ไทยมีความพร้อม รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างเครือข่าย ความเชื่อมโยงและความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานและสถาบันการศึกษาของไทยกับต่างประเทศ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ