รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศเข้าร่วม การประชุม Emerging Development Partners’ (EDP) Meeting ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศเข้าร่วม การประชุม Emerging Development Partners’ (EDP) Meeting ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 มิ.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 มิ.ย. 2567

| 254 view

เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๗ นางอรุณี ไฮม์ม รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุม Emerging Development Partners’ (EDP) Meeting ภายใต้หัวข้อ “Exploring Synergies and Potential Collaboration” จัดโดยรัฐบาลอินโดนีเซียร่วมกับรัฐบาลตุรกี โดยมีเจ้าหน้าที่กรมความร่วมมือฯเข้าร่วมด้วย ณ เมืองบาหลี อินโดนีเซีย

รองอธิบดีกรมความร่วมมือฯ ได้เข้าร่วมอภิปรายใน Plenary Session ที่ ๑ ภายใต้หัวข้อ “Repositioning Emerging Development Partners’ Roles in Multilateral Fora” ตามคำเชิญของผู้จัดการประชุมฯ โดยได้แลกเปลี่ยนแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดี ในการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทยภายใต้ความร่วมมือใต้-ใต้และไตรภาคีร่วมกับคู่ร่วมมือต่าง ๆ โดยเฉพาะสหประชาชาติ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) อาทิ โครงการ Global Health Diplomacy Training ร่วมกับ WHO และกระทรวงสาธารณสุข โครงการส่งเสริมการผดุงครรภ์ อนามัยแม่และเด็ก และการป้องกันการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ร่วมกับ UNFPA ณ ติมอร์-เลสเต และ โครงการ ARISE Plus Thailand: Trilateral Cooperation on Sharing Knowledge and Best Practices in Organic Agriculture with ASEAN Member States ร่วมกับ International Trade Centre (ITC)  และ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ณ สปป. ลาว

นอกจากนี้ รองอธิบดีกรมความร่วมมือฯ ได้กล่าวเกี่ยวกับความสำคัญของการเพิ่มบทบาทของประเทศโลกใต้ (Global South) ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ (Quantity and Quality) ในการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในสาขาต่าง ๆ อย่างมีนวัตกรรม โดยเฉพาะการให้ความร่วมมือทางวิชาการ และความร่วมมือทางการถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งมุ่งเน้นการเสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศโลกใต้อย่างเข้มแข็ง โดยเห็นว่าความร่วมมือใต้-ใต้และไตรภาคีเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานความร่วมมือระหว่างกัน อย่างไรก็ดี ความร่วมมือใต้-ใต้ ไม่ได้ทดแทนความร่วมมือเหนือ-ใต้ แต่เป็นการเสริมสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ทั้งสองแนวทางดำเนินการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนในอนาคตต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ