เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๖ นายวัฒนวิทย์ คชเสนี รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นประธานร่วมในการประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการ (Project Steering Committee - PSC) ครั้งที่ ๒ ของโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียงสำหรับชุมชน One Gewog One Product (OGOP) ของภูฏาน (OGOP Model II) โดยมีนาย Karma Tenzin รองราชเลขาธิการ สำนักงานโครงการสมเด็จพระราชินีเจตซุนเพมา วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน เป็นประธานฝ่ายภูฏานและมี รศ.ดร.วัชรพงษ์ วัฒนกูล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้จัดการโครงการ OGOP Model II เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย
การประชุมดังกล่าวได้จัดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อสรุปผลการจัดกิจกรรมและการดำเนินโครงการตลอดระยะเวลา ๓ ปี (๒๕๖๒ – ๒๕๖๕) รวมทั้งการติดตามผล ๑ ปี (๒๕๖๖) และโดยที่โครงการได้ดำเนินการทุกกิจกรรมภายใต้แผนงานโครงการแล้ว ในโอกาสนี้ นายวัฒนวิทย์ คชเสนี จึงได้กล่าวปิดโครงการ OGOP Model II และส่งมอบโครงการดังกล่าวแก่สำนักงานโครงการสมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน
นอกจากนี้ นายวัฒนวิทย์ คชเสนี ได้ส่งมอบอาสาสมัครเพื่อนไทย จำนวน ๓ ราย แก่สำนักงานโครงการสมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน โดยอาสาสมัครเพื่อนไทยประกอบด้วย
(๑) นายสุกฤษฎ์ ศรีทอง นักพัฒนาชุมชนและท่องเที่ยวชุมชน ปฏิบัติงาน ณ จังหวัดฮา
(๒) นางสาวณัฐยาพร แสงเพ็ชร นักพัฒนาชุมชนและท่องเที่ยวชุมชน ปฏิบัติงาน ณ จังหวัดทรองซา
(๓) นางสาวนงนภัส เขมะนุเชษฐ์ นักพัฒนา/ออกแบบผลิตภัณฑ์ ปฏิบัติงาน ณ กรุงทิมพู
ทั้งนี้อาสาสมัครเพื่อนไทยมีระยะเวลาปฏิบัติงาน ๑ ปี ระหว่างวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๖ ถึงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๗ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมความยั่งยืนและความต่อเนื่องในการดำเนินโครงการ OGOP ของฝ่ายภูฏาน ภายหลังที่กรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้สิ้นสุดและส่งมอบโครงการดังกล่าว
ในโอกาสดังกล่าว นายวัฒนวิทย์ คชเสนี ได้ขอบคุณสำนักงานโครงการสมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สำหรับความร่วมมือในการดำเนินโครงการเป็นอย่างดีเสมอมา ซึ่งส่งผลให้โครงการประสบความเร็จในการส่งเสริมรายได้และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวภูฏาน โดยการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ OGOP ใน ๖ พื้นที่เป้าหมายโครงการ การพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชนจำนวน ๒ ศูนย์ ในจังหวัดฮาและจังหวัดชีรัง และการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community – based Tourism : CBT) ในจังหวัดฮารวมทั้ง ขอให้ฝ่ายภูฏานให้การสนับสนุนการทำงานของอาสาสมัครเพื่อนไทยอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องเช่นเดียวกับที่ฝ่ายไทยได้รับความร่วมมืออย่างดีในช่วงที่ผ่านมาตลอดอายุโครงการดังกล่าว