หลักการประเมินผลโครงการ

หลักการประเมินผลโครงการ

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ส.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 124,389 view

       ความหมายและความสำคัญของการประเมินผล

 

             การประเมินผล (Evaluation) และการประเมินผลโครงการ (Project Evaluation) ตามอภิธานศัพท์ของ OECD DAC มีความหมาย ดังนี้

             การประเมินผล หมายถึง การประเมิน (assessment) แผนงาน การดำเนินงาน และผลลัพธ์ อย่างเป็นระบบและตามวัตถุประสงค์ของแผนงาน  หรือโครงการที่กำลังดำเนินงานอยู่หรือเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยวัตถุประสงค์ของการประเมิน คือ เพื่อพิจารณาถึงความสอดคล้องและการบรรลุวัตถุประสงค์ ประสิทธิภาพของการพัฒนา ประสิทธิผล ผลกระทบ  และความยั่งยืน (The systematic and objective assessment of an on-going or completed project, programme or policy, its design, implementation and results.  The aim is to determine the relevance and fulfillment of objectives, development efficiency, effectiveness, impact and sustainability.)

             การประเมินผลโครงการ หมายถึง การประเมินว่า โครงการที่ดำเนินการนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ ภายในทรัพยากรและระยะเวลาที่กำหนดไว้ (Evaluation of an individual development intervention designed to achieve specific objectives within specified resources and implementation schedules, often within the framework of a broader program)

             การประเมินผลเป็นขั้นตอนสำคัญขึ้นตอนหนึ่งในกระบวนการทำงานโครงการของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่จะทำให้ทราบว่า สิ่งที่ได้ดำเนินการมาทั้งหมดนั้นมีผลสัมฤทธิ์ที่แท้จริงอย่างไร มีความสำเร็จหรือความล้มเหลวอย่างไร

 

             รูปแบบการประเมินผล

             ๑)  การประเมินก่อนเริ่มดำเนินโครงการ (Ex-ant evaluation) เป็นการทำ Baseline survey โดยมีการหารือกับผู้บริหาร/ผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบายและกลุ่มเป้าหมายของปรเทศ คู่ร่วมมือ เพื่อได้รับทราบแนวทาง/นโยบายและความพร้อมในการดำเนินงานของคู่ร่วมมือ รวมทั้งเพื่อให้เกิด ownership และ sustainability ด้วย

             ๒)  การประเมินช่วงระหว่างดำเนินงานโครงการ (Mid-term evaluation) เพื่อการตรวจสอบคุณภาพของโครงการ และการให้คำแนะนำเพื่อปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานให้เหมาะสม

             ๓)  การประเมินช่วงก่อนสิ้นสุดโครงการ (Terminal evaluation) ประมาณ ๒ – ๓ เดือน เพื่อพิจารณา/ทบทวนปัญหา/อุปสรรคขั้นสุดท้ายและแนวทางแก้ไขปัญหา/ข้อเสนอแนะ เพื่อให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จตามแผนและเป้าหมายที่กำหนดไว้ หรือหากมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการดำเนินงานโครงการ

             ๔) การประเมินหลังจบโครงการ (Ex-post evaluation) เป็นการพิจารณาถึงผลกระทบและความยั่งยืนของโครงการเป็นหลัก มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะเสนอบทเรียนและข้อเสนอแนะ   เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือปรับปรุงการดำเนินงานโครงการ การจัดทำแผนงานความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป โดยทำการประเมินผลหลังโครงการจบแล้ว ๓ – ๕ ปี

             การประเมินผล (Evaluation) คือ การวิเคราะห์อย่างเป็นระบบจัดทำเป็นครั้งคราวแบบเฉพาะกิจ เพื่อที่จะตอบคำถามบางอย่างเกี่ยวกับผลงาน การประเมินผลจึงอาจเป็นการประเมินและอธิบายเกี่ยวกับประเด็นผลงานของโครงการหรือแผนงาน และเกี่ยวพันโดยเฉพาะกับประเด็นที่มีความซับซ้อน เช่น ผลกระทบ หรือผลได้ ความยั่งยืนและความสอดคล้อง มักเป็นการประเมินโดยบุคคลภายในโครงการและแผนงาน แต่อาจเป็นคนในหน่วยงานหรือนอกหน่วยงานก็ได้ โดยที่ไม่ได้นำเสนอเฉพาะหลักฐานที่ปรากฏถึงการบรรลุผลสัมฤทธิ์เท่านั้น แต่ยังเป็นการอธิบายเกี่ยวกับผลงานภายใต้เงื่อนที่มาจากผลลัพธ์และผลกระทบ

             นอกจากนี้  การประเมินผลยังให้ข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิบัติที่มาจากผลของการวิเคราะห์หรือกล่าวโดยง่ายคือ การประเมินผลก็จะได้ข้อมูลมาจากการติดตามผลงาน แต่เต็มไปด้วยการวิเคราะห์ การให้ข้อคิดเห็น การพิจารณาประเด็นต่าง ๆ และให้ข้อแนะนำ ดังนั้น หากขาดไปซึ่งการประเมินผลที่ดี ย่อมไม่อาจนำไปสู่การฏิบัติที่เหมาะสมได้


 

           กรมความร่วมมือระหว่างประเทศมีขั้นตอนในการดำเนินการประเมินผลประกอบด้วย ๙ ขั้นตอน คือ การเก็บรวบรวมข้อมูล  ศึกษาข้อมูลทุติยภูมิ วิเคราะห์ข้อมูลและกำหนดวัตถุประสงค์ พัฒนาเครื่องมือประเมิน กำหนดพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย เก็บรวบรวมข้อมูล ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล สรุปผลและข้อเสนอแนะ และจัดทำรายงานสรุปผลการประเมิน

 

 

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศใช้เกณฑ์ในการประเมินผล ดังนี้

๑.  ตามแนวทาง OECD/DAC

Organization of Economic Co – operation and Development (OECD) ได้กำหนดเกณฑ์สำหรับการประเมินผลโครงการและแผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไว้ ๕ ประการ ได้แก่ relevance, effectiveness, efficiency, impact และ sustainability ซึ่งกำหนดไว้เป็น Principles for Evaluation of Development Assistance  และต่อมาได้กำหนดไว้ในอภิธานศัพท์ของ Evaluation and Results Based Management ซึ่งประเทศสมาชิก OECD ใช้เป็นบรรทัดฐานสำหรับการประเมินผล ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ดังตารางที่ ๑ (ดังตารางที่ ๑)

 

ตารางที่  ๑  เกณฑ์การประเมิน ๕ ด้าน ของ OECD

เกณฑ์การประเมิน

ประเด็นพิจารณา

ความสอดคล้อง

(Relevance)

เราทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่? ความร่วมมือมีความเกี่ยวข้องหรือความสำคัญกับความต้องการและลำดับความสำคัญของท้องถิ่นและประเทศอย่างไร?

ประสิทธิผล

(Effectiveness)

บรรลุวัตถุประสงค์ของความร่วมมือเพื่อการพัฒนาหรือไม่? ประสิทธิผลของโครงการเมื่อเปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้เป็นอย่างไร?

ประสิทธิภาพ

(Efficiency)

ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาบรรลุวัตถุประสงค์เชิงเศรษฐกิจอย่างไร? ประสิทธิภาพเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ทรัพยากรเป็นอย่างไร?

ผลกระทบ

(Impact)

ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาทำให้บรรลุเป้าประสงค์โดยรวม (overall goal) หรือไม่? ผลกระทบของความร่วมมือต่อกลุ่มเป้าหมายคืออะไร?

ความยั่งยืน

(Sustainability)

ผลกระทบเชิงบวกมีความยั่งยืน? ประเมินความยั่งยืนของความร่วมมือ และผลกระทบอย่างไร?

 

 

๒.  รูปแบบอื่น ๆ ตามวัตถุประสงค์ของการประเมิน เช่น CIPP Model  หรือเกณฑ์และตัวชี้วัดสำหรับการประเมินหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบของกรมการพัฒนาชุมชน

             ๒.๑ รูปแบบการประเมินโครงการแบบซิปป์ ของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam’s CIPP Model) เป็นกรอบการประเมินโครงการที่ได้การยอมรับทั่วไปในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นรูปแบบการประเมินที่ไม่ได้ประเมินผลสำเร็จของโครงการจากผลผลิต (Product) ที่ได้จากการดำเนินโครงการเท่านั้น แต่พิจารณา    การดำเนินงานโครงการตั้งแต่วัตถุประสงค์โครงการ (Context) ว่า สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายต้องการหรือไม่ ปัจจัยหรือทรัพยากรที่นำมาใช้ในโครงการ (Input) มีความเหมาะสมเพียงพอหรือไม่ กระบวนการทำงาน (Process) มีความเหมาะสมหรือเอื้อต่อการทำงานของผู้ปฏิบัติงานหรือไม่ ถ้า  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มีการเบี่ยงเบนไม่เอื้อต่อการได้มาซึ่งผลผลิตโครงการจะได้หาวิธีปรับปรุงแก้ไขต่อไปในอนาคต

             การประเมินโครงการตามกรอบแนวคิด CIPP MODEL ได้กำหนดการประเมินผลออกเป็น ๔ ด้าน ดังนี้ (แผนภาพที่ ๑)

             ๒.๑.๑ การประเมินสภาวะแวดล้อม (Context Evaluation: C) เป็นการประเมินเพื่อพิจารณาสภาพแวดล้อมโครงการ ในประเด็นของหลักการและเหตุผลความจำเป็น ประเด็นปัญหา โดยเน้น ความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมและข้อเท็จจริงว่า หลังจากที่โครงการเสร็จสิ้นแล้วในระยะยาว    ได้เกิดผลใด ๆ ที่สอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการของสภาพการณ์ที่เป็นอยู่หรือไม่ รวมถึง     การตระหนักถึงความสำคัญของโครงการ และความสอดคล้องกับบริบทแวดล้อม

             ๒.๑.๒ การประเมินปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation: I) เป็นการประเมินเพื่อพิจารณาถึง    ความเหมาะสม ความพอเพียง และการใช้ทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินโครงการ เช่น งบประมาณ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ ฯลฯ ว่า สอดคล้องตรงตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการหรือไม่ และช่วยให้เกิดการวางแผนพัฒนาโครงการต่อเนื่องได้อย่างเหมาะสมเพียงใด

             ๒.๑.๓ การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation: P) เป็นการประเมินเพื่อสรุปให้เห็นถึงกระบวนการดำเนินงานของโครงการ ขั้นตอนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ

             ๒.๑.๔ การประเมินผลผลิต (Product Evaluation: P - Output and Outcome) เป็นการประเมินเพื่อเปรียบเทียบผลผลิตที่เกิดขึ้นกับเป้าหมายหรือมาตรฐานที่กำหนดไว้ เพื่อการตัดสินใจว่า  จะขยายพัฒนาหรือต่อยอดอย่างไร

 

                   แผนภาพที่ ๑ กรอบแนวคิดการประเมินโครงการตามรูปแบบ CIPP

             ๒.๒ สำหรับการประเมินหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบของกรมการพัฒนาชุมชน

             กรมการพัฒนาชุมชนได้กำหนดเกณฑ์และตัวชี้วัดสำหรับการประเมินหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ (๔ ด้าน ๒๓ ตัวชี้วัด) และเกณฑ์และตัวชี้วัดการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในการดำเนินวิถีชีวิตของชุมชน ๖ ด้าน ๑๒ ตัวชี้วัด (๖ x ๒) เพื่อประเมินความพร้อมในการพัฒนาต่อให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ดังนี้

 

เกณฑ์

ตัวชี้วัด

๑. ด้านการลดรายจ่าย (ด้านเศรษฐกิจ)

๑.๑ ครัวเรือนทำสวนครัว

๑.๒ ครัวเรือนปลอดอบายมุข

๒. ด้านการเพิ่มรายได้ (ด้านเศรษฐกิจ)

๒.๑ ครัวเรือนมีอาชีพเสริม

๒.๒ ครัวเรือนใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม

๓. ด้านการประหยัด (ด้านเศรษฐกิจ)

๓.๑ ครัวเรือนมีการออมทรัพย์

๓.๒ ชุมชนมีกลุ่มออมทรัพย์ฯ

๔. ด้านการเรียนรู้ (ด้านวัฒนธรรม)

๔.๑ ชุมชนมีการสืบทอดและใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

๔.๒ ครัวเรือนมีการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในชีวิตประจำวัน

๕. ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน (ด้านสิ่งแวดล้อม)

 

๕.๑ ชุมชนใช้วัตถุดิบอย่างยั่งยืนในการประกอบอาชีพ

๕.๒ ชุมชนปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่นเป็นหมู่บ้านน่าอยู่

๖. ด้านการเอื้ออารีต่อกัน (ด้านสังคม)

๖.๑ ชุมชนมีการดูแลช่วยเหลือคนจนคนด้อยโอกาสและคนประสบปัญหา

๖.๒ ชุมชน “รู้รักสามัคคี”