วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ก.ค. 2567
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 ก.ค. 2567
เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๗ นายวัฒนวิทย์ คชเสนี อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศพบหารือกับนาง Jolene Tan Director-General, Technical Cooperation Directorate (TCD) กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ ก่อนการเข้าร่วมประชุมโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการไทย–สิงคโปร์ (Civil Service Exchange Programme: CSEP) ครั้งที่ ๑๔ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕– ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๗ ณ โรงแรมแชงกรี ลา กรุงเทพฯ โดยทั้ง ๒ ฝ่าย ได้หารือร่วมกันใน ๕ ประเด็น ดังนี้
๑. ทบทวนหลักสูตรฝึกอบรม (TCTP) ตามผลการประชุม CSEP ครั้งที่ ๑๓ และแผนดำเนินงานหลักสูตร TCTP ของปี ๒๕๖๖ – ๒๕๖๗
๒. หัวข้อ (Theme) และแผนดำเนินงานหลักสูตร TCTP ประจำปี ๒๕๖๘ อาทิ อากาศสะอาด และ BCG Economy Model
๓. การประชุมความร่วมมือทางวิชาการไทย–สิงคโปร์ ครั้งที่ ๑๑ ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ
๔. พิจารณาร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุม CSEP ครั้งที่ ๑๔ (Joint Summary Record: JSR)
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทยกับสิงคโปร์
๕. ความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จาก Singapore Cooperation Center (SCC) ที่สิงคโปร์จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านของไทย ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยไทยอาจจัดส่งผู้เชี่ยวชาญไปร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในหลักสูตรฝึกอบรมที่ SCC จัดในประเทศเพื่อนบ้าน โดยมี นางสาวชิดชนก มาลยะวงศ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานความร่วมมือระหว่างประเทศพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กลุ่มงานวางแผนความร่วมมือและประเมินผลความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ และกองความร่วมมือด้านทุน เข้าร่วมการประชุมด้วย
การประชุม CSEP จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๑ เพื่อเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการดำเนินความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับสิงคโปร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างหน่วยราชการไทยและสิงคโปร์ โดยทั้งสองประเทศจะสลับกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ โดยปี ๒๕๖๗ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม CSEP ครั้งที่ ๑๔ ภายใต้หัวข้อหลัก “Embarking on a Green Partnership in a Digitalized Era” ซึ่งมุ่งส่งเสริมการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในยุคดิจิทัล โดยการประชุมครั้งนี้ มีการปรับรูปแบบการประชุมเป็นรูปแบบใหม่ แบ่งออกเป็น ๓ เสาหลัก ได้แก่ (๑) Partnership for Sustainability (หุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน) (๒) Partnership for Economic Growth and Social Development (หุ้นส่วนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม) และ (๓) Partnership for Human Empowerment and Public Service Development (หุ้นส่วนเพื่อการส่งเสริมศักยภาพทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาหน่วยงานภาครัฐ) ซึ่งทั้ง ๓ เสาดังกล่าว ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีสีเขียว เครื่องมือดิจิทัล นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม การเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับภาครัฐและเอกชน รวมถึงการส่งเสริมความสัมพันธ์และการร่วมมือกัน โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้เสาที่ ๓ (หุ้นส่วนเพื่อส่งเสริมศักยภาพทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาหน่วยงานภาครัฐ)
รูปภาพประกอบ