การประชุม TICA - JICA Annual Meeting on Technical Cooperation JFY 2024

การประชุม TICA - JICA Annual Meeting on Technical Cooperation JFY 2024

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 เม.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 เม.ย. 2566

| 1,509 view

เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๖ นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เยี่ยมชมสำนักงานองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ประจำประเทศไทย ตามคำเชิญของนายซูซูกิ คาซูยะ (Mr. SUZUKI Kazuya) Chief Representative, JICA ประเทศไทย และเข้าร่วมการประชุม TICA-JICA Annual Meeting on Technical Cooperation JFY 2024 เพื่อหารือการกำหนดทิศทางความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันในช่วงปี ๒๕๖๖–๒๕๖๗ โดยมีนางอรุณี ไฮม์ม รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ นางสาวชิดชนก มาลยะวงศ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ JICA และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เข้าร่วมด้วย ณ สำนักงาน JICA ประจำประเทศไทย

ทั้งสองฝ่ายนำเสนอและแลกเปลี่ยนนโยบายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างกัน โดยอธิบดีอุรีรัชต์ฯ เน้นย้ำถึงการพัฒนาของไทยที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งกรมความร่วมมือระหว่างประเทศให้ความสำคัญต่อการดำเนินความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ใน ๔ สาขา ได้แก่ (๑) ด้านสาธารณสุข (๒) ด้านอาชีพ (๓) ด้านอาหาร และ (๔) พลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ ไทยจะประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินการ อีกทั้ง การขยายเครือข่ายการดำเนินงานไปสู่ภาคส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคเอกชน เพื่อให้ความร่วมมือส่งผลประโยชน์แก่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แนวคิด Public-Private Partnership for People (PPPP)

ในด้านการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา อธิบดีอุรีรัชต์ฯ​ แสดงความยินดีที่ญี่ปุ่นมีบทบาทแข็งขันในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในกรอบ ACMECS และแจ้งว่า ไทยเป็นผู้ประสานงานหลักของเสาที่ ๓ ของ ACMECS : การพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรม ในโอกาสนี้ ได้เชิญฝ่ายญี่ปุ่นพิจารณาร่วมมือกับไทย ในการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิก ACMECS อาทิ การร่วมให้ทุนการศึกษาและร่วมจัดฝึกอบรมแก่ประเทศสมาชิก ACMECS ในสาขาที่ตอบสนองต่อนโนบายด้านการพัฒนาของประเทศผู้รับ ซึ่งจะสนับสนุนความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาในอาเซียน

นายซูซูกิ ได้นำเสนอนโยบายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของญี่ปุ่นต่อประเทศไทย โดยเฉพาะการจัดทำเอกสาร JICA Country Analysis Paper (JCAP) สำหรับประเทศไทย ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นได้จัดทำเพื่อประเมินภาพรวมความร่วมมือระหว่างกัน รวมถึงกำหนดทิศทางความร่วมมือร่วมกันในอนาคต โดยสารัตถะของ JCAP สะท้อนความสำคัญที่ญี่ปุ่นให้กับไทยทั้งในกรอบทวิภาคี และในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาเพื่อร่วมการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ทั้งระดับไตรภาคีและในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาและจัดส่งข้อเสนอโครงการความร่วมมือทางวิชาการไทย-ญี่ปุ่น ประจำปีงบประมาณญี่ปุ่น ๒๕๖๗ (ค.ศ. ๒๐๒๔) ด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ