ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการไทย-จีน

ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการไทย-จีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ม.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,941 view

ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการไทย-จีน

 

ภูมิหลัง

          ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนได้จัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการไทย-จีน  (Agreement on Scientific and Technical Co-operation between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the People’s Republic of China) เมื่อวันที่
31 มีนาคม 2521  โดยมี ดร. อุปดิศร์ ปาจาริยางกูร และนาย Huang Hua รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศ (ในขณะนั้น)  เป็นผู้ลงนามความตกลงฯ ซึ่งถือเป็นกรอบความร่วมมือแรกระหว่างไทยกับจีนที่ได้จัดทำขึ้นอย่างเป็นทางการภายหลังการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน เมื่อวันที่  1 กรกฎาคม 2518   และเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและจีนมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

 

กลไกในการขับเคลื่อน

          กลไกในการขับเคลื่อนความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการไทย – จีน  คือ รัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการไทย – จีน   หรือ คกร. ไทย – จีน  (Sino-Thai Joint Committee of the Scientific and Technical Cooperation) เพื่อเป็นกลไกในการกำหนดทิศทางความร่วมมือและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการไทย-จีน โดยฝ่ายไทยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างเทศ เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย และฝ่ายจีนมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนเป็นประธานร่วมฝ่ายจีน

หน่วยงานประสานงาน คือ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นหน่วยงานประสานงานหลักของฝ่ายไทย สำหรับฝ่ายจีน คือ Department of International Cooperation กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

          กลไกความร่วมมือแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่

          1. การประชุมระดับรัฐมนตรี: จะจัดขึ้นทุก 2 ปี โดยทั้งสองฝ่ายจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพ  ซึ่งการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งล่าสุด คือ สมัยที่ 21 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557  ณ กรุงปักกิ่ง และไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม คกร. ไทย-จีน สมัยที่ 22 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม  2561 ณ กรุงเทพฯ โดยมีประธานของทั้งสองฝ่าย ดังนี้

ประธานฝ่ายไทย คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย (ที่ผ่านมา เป็นระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) โดยการประชุม คกร. ไทย – จีน สมัยที่ 21  นายดอน ปรมัตถ์วินัย  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ในขณะนั้น) เป็นประธานฝ่ายไทย  และ การประชุม คกร. ไทย – จีน สมัยที่ 22 มี นายวีระศักดิ์  ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ในขณะนั้น)  เป็นประธาน

ประธานฝ่ายจีน คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย  เป็นประธานฝ่ายจีน (ที่ผ่านมา เป็นระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ในการประชุม คกร. ไทย-จีน สมัยที่ 21 นาย Cao JianLin,  Vice Minister กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานฝ่ายจีน  (ในขณะนั้น) และการประชุม คกร. ไทย – จีน สมัยที่ 22  นาย Zhang Jianguo Vice Minister กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เป็นประธานฝ่ายจีน

 

          สำหรับการประชุม คกร. ไทย – จีน สมัยที่ 23 จะจัดขึ้นที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 2563            (อยู่ระหว่างแจ้งวันและสถานที่ในการประชุม)

 

          2. การประชุมระดับคณะทำงาน (Joint Working Group)  จะเป็นการประชุมระดับคณะทำงานของทั้งสองฝ่าย โดยจะประชุมก่อนการประชุม คกร. ไทย – จีน ซึ่งจะเป็นการเตรียมการก่อนการประชุม คกร. ไทย – จีน  ซึ่งฝ่ายจีนได้จัดการประชุมระดับคณะทำงานครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 ณ กรุงปักกิ่ง โดยมีประธานของทั้งสองฝ่าย ดังนี้

          ประธานฝ่ายไทย คือ อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้  นางศศิธร  ว่องวีรโชติกิจ รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นประธานการประชุมคณะทำงาน ครั้งล่าสุด

          ประธานฝ่ายจีน คือ อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ก.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ นาย YE Dongbai อธ.กรมความร่วมมือฯ เป็นประธานฝ่ายจีนในการประชุมระดับคณะทำงานครั้งล่าสุด

 

 

ผลการประชุม คกร. ไทย-จีน สมัยที่ 22 (ปี 2561)

          1. รับทราบผลความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการตามมติการประชุม คกร. ไทย – จีน สมัยที่ 21 ได้แก่ โครงการแลกเปลี่ยนศึกษาดูงาน ๒๓ โครงการ โครงการวิจัยร่วมและพัฒนา 21 โครงการ โครงการขยายขอบเขตความร่วมมือทวิภาคี 2 โครงการ และโครงการความร่วมมือไตรภาคี 1 โครงการ ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วเกือบทั้งหมด

          2.  เห็นชอบแผนงานความร่วมมือในรอบต่อไป (พ.ศ. 2562 - 2563) ประกอบด้วย

2.1 โครงการแลกเปลี่ยนดูงาน 6 โครงการ อาทิ ระบบพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก พืชสมุนไพร การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าว และการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม  โดยในแต่ละโครงการฝ่ายไทยไปศึกษาดูงานที่จีน             1 ครั้ง และฝ่ายจีนมาศึกษาดูงานที่ไทย 1 ครั้ง ตามความสนใจร่วมกัน

2.2 โครงการความร่วมมือทวิภาคี 7 โครงการ ในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งไทยและจีน ได้แก่ การบริหารจัดการแหล่งน้ำระดับชุมชน พลังงานสีเขียว กระจกอัจฉริยะเพื่อประหยัดพลังงานในอาคาร      การพัฒนาโปรแกรมแปลภาษาจีน-ไทย การพัฒนาดาราศาสตร์ และการใช้ระบบเซ็นเซอร์ติดตามตัวเพื่อดูแลผู้สูงอายุแบบอัจฉริยะ การพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุสำหรับการวิจัยด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์ เป็นต้น

2.3 ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะขยายความร่วมมือที่หลากหลายสาขายิ่งขึ้น นอกเหนือจากด้านวิทยาศาสตร์ เช่น ภาคอุตสาหกรรมและการศึกษา และให้ครอบคลุมทุกระดับทั้งในระดับประชาชน ท้องถิ่น และรัฐบาล ตลอดจนส่งเสริมสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ที่ได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย อาทิ ศูนย์วิจัยร่วมไทย-จีน ด้านรถไฟความเร็วสูง สำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือและอุทยานวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการคมนาคมทางรถไฟไทย การสร้างนวัตกรรมสำหรับภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือจากจีนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของไทยกับกรอบความร่วมมือระหว่างมณฑลกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Guangdong – Hong Kong – Macao Greater Bay Area: GBA) ของจีน รวมถึงการขยายความร่วมมือกับไทยในลักษณะไตรภาคีเพื่อสนับสนุนกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา- แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) และความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมโยงระหว่าง ACMECS        กับกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation: MLC) 

2.4 การประชุม คกร. ไทย – จีน สมัยที่ 23  มีกำหนดจะจัดขึ้นในปี 2563  ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยฝ่ายจีนจะกำหนดวันและสถานที่ประชุมต่อไป

2.5 ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกสรุปผลการประชุม (Summary Record)  

 

การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คกร. ไทย – จีน (ฝ่ายไทย)

 

เพื่อให้การดำเนินงานความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการไทย – จีน ของฝ่ายไทยเกิดประโยชน์สูงสุด กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 5 สาขา ภายใต้ คกร. ไทย-จีน ฝ่ายไทย เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563  โดยมี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลงนาม ซึ่ง 5 สาขา ประกอบด้วย   (1) เกษตรกรรม (2) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม     (3) พลังงาน (4) สาธารณสุข และ (5) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  คณะอนุกรรมการนี้ จะทำหน้าที่ในการกำหนดทิศทางในการดำเนินโครงการความร่วมมือ ภายใต้ คกร. ไทย-จีน ให้มีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

สำหรับดำเนินงานในปี 2564 – 2665  กรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้แจ้งเวียนข้อเสนอไปยัง 8 กระทรวง ที่เกี่ยวข้องกับ 5 สาขาความร่วมมือ  

 

กลไกสำหรับการขับเคลื่อนคณะอนุกรรมการรายสาขา นั้น กรมความร่วมมือระหว่างประเทศในฐานะประธานและฝ่ายเลขานุการจะต้องจัดประชุมรายสาขาเพื่อพิจารณาทิศทางความร่วมมือ หัวข้อและการจัดทำข้อเสนอโครงการความร่วมมือภายใต้ คกร. ไทย-จีน สมัยที่ 23 คาดว่าจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2563

 

4.1 โครงการศึกษาระบบติดตามตำแหน่งและเฝ้าระวังสถานะของผู้ป่วยในอาคารโรงพยาบาลหรือผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราด้วยเครือข่ายเซนเซอร์ไร้สาย กล้องไอพี และระบบประมวลแบบกลุ่มเมฆ (Location Tracking and Status Monitoring of Patients in Hospital and Elders in Elderly Care Home using Wireless Sensor Network, IP Camera, and Cloud Computing) ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และ Shanghai Advance Research Institute (SARI), Chinese Academy of Sciences

ผลการดำเนินการ คณะนักวิจัยไทยได้ส่งมอบและสาธิตต้นแบบระบบระบุตำแหน่งที่พัฒนาขึ้นโดยทีมนักวิจัย NECTEC ให้แก่นักวิจัยของ SARI และได้มีโอกาสศึกษาและติดตามความก้าวหน้าของจีนเกี่ยวกับระบบติดตามตำแหน่งและเฝ้าระวังสถานะของผู้ป่วยในอาคารโรงพยาบาลหรือผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราด้วยเครือข่ายเซนเซอร์ไร้สาย กล้องไอพี และระบบประมวลแบบกลุ่มเมฆ รวมทั้งได้รับตัวอย่างไอซีหมายเลข ESP32 ซึ่งฝ่ายจีนได้นำออกจำหน่ายในปลายปี ๒๕๕๙ ตลอดจนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการติดตั้งและใช้งานกล้อง IP Camera และซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการเก็บภาพจากกล้อง IP Camera รวมทั้งรับทราบข้อมูลเบื้องต้นของโค้ดภายในซอฟต์แวร์ของจีน

 

4.2 โครงการศึกษาตัวแปรเชิงกายภาพด้านการเกษตร โดยใช้เทคนิคภาพถ่ายดาวเทียม

ระยะไกล เพื่อการประมาณการพื้นที่ปลูกและผลผลิตข้าว   (Agriculture Physiological Parameters Remote Sensing Retrieval Technique for Rice Acreage and Yield Estimation) ซึ่งดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ Institute of Remote Sensing and Digital Earth (RADI), Chinese Academy of Sciences

ผลการดำเนินการ คณะนักวิจัยไทยได้สรุป/เปรียบเทียบศักยภาพของไทยและจีน ดังนี้

 

ศักยภาพด้าน

การเปรียบเทียบระหว่างไทยกับจีน

 

เทคโนโลยี

จีนมีศักยภาพด้านเทคโนโลยีที่สูงกว่า โดยจีนมีข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่หลากหลาย ทำให้สามารถเลือกข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่เหมาะสมกับงานด้านต่างๆ หรือสามารถใช้ข้อมูลจากหลายดาวเทียมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำได้ ซึ่งข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมถือว่าเป็นข้อมูลต้นน้ำที่จำเป็นสำหรับนำมาใช้ในการสร้างแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ

 

ความรู้

รัฐบาลจีนส่งเสริมการประยุกต์ใช้งานข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง ส่งผลให้มีบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีงานวิจัยที่หลากหลายและนำไปใช้งานได้อย่างตรงจุดตามภารกิจของหน่วยงานต่าง ๆ

 

ประสบการณ์

จีนมีการใช้งานข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมอย่างต่อเนื่อง จึงมีประสบการณ์ในการพัฒนาระบบเพื่อนำข้อมูลดาวเทียมไปใช้งานอย่างจริงจังมากกว่าไทย เช่น การสร้างระบบ China Agriculture Remote Sensing Monitoring System (CHARMS) เพื่อติดตามการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ข้าว สาลี ข้าวโพด เป็นต้น

 

ความชำนาญ

จีนมีการแบ่งสาขาความรู้อย่างชัดเจน จึงทำให้สามารถศึกษาและต่อยอดความรู้จนมีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว นอกจากนั้น จีนยังมีความร่วมมือระหว่างนักวิจัยที่ใกล้ชิด ส่งผลให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ  อาทิ ข้อมูลดาวเทียม ข้อมูลภาคสนาม เทคนิคการเก็บข้อมูลและประมวลผล ทำให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

                                             

           ภายหลังเสร็จสิ้นการดำเนินโครงการฯ นักวิจัยไทยจะพัฒนารูปแบบการวิจัยโดยใช้แบบ จำลองของนักวิจัยจีนเป็นแบบอย่าง แต่จะลดความซับซ้อนและตอบสนองต่อข้อจำกัดของไทยในการใช้งานเพื่อให้สามารถใช้งานในเชิงปฏิบัติการระดับประเทศได้ และสามารถนำส่งข้อมูลภูมิสารสนเทศให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านเว็บไซต์โดยอัตโนมัติ

 

4.3 โครงการวิจัยและพัฒนาศักยภาพสมุนไพรที่มีการใช้ในท้องถิ่น (Research and Development of Potential Herbal Medicine in Community) ซึ่งดำเนินการโดยกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และ Hubei University of Medicine 

ผลการดำเนินการ นักวิจัยไทยได้เรียนรู้แนวทางการบริหารจัดการสมุนไพรอย่างเป็นระบบและครบวงจรของจีน ตั้งแต่การวิจัยพื้นฐาน งานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการผลิตยาตัวใหม่ที่ได้จากสมุนไพรซึ่งมีการทดสอบฤทธิ์และความปลอดภัยจนเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีมาตรฐาน โดยกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์อยู่ระหว่างการจัดทำข้อกำหนดคุณภาพของสมุนไพรที่มีการใช้ในท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งอยู่ระหว่างการพัฒนาศักยภาพของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในส่วนภูมิภาคให้สามารถให้บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพให้กับชุมชนและท้องถิ่นมากขึ้น