วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ก.พ. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 มี.ค. 2566
Project on SMEs Development (ODOP)
แผนงานโครงการ แผนงานโครงการระยะ 3 ปี (2563 - 2565)
ความเป็นมาของโครงการ
ในการประชุมความร่วมมือทางวิชาการไทย – ลาว ครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่ 31 ก.ค. – 1 ส.ค. 2562 ณ จ. เพชรบุรี ฝ่ายไทยและ สปป. ลาว ได้เห็นชอบร่างกรอบแผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาใน 6 สาขา ได้แก่ สาขาเกษตร การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว และสาขาอื่น ๆ
จากนั้นฝ่ายไทยโดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้เดินทางไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของฝ่ายลาว ระหว่างวันที่ 22 – 23 ก.ย. 2562 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อจัดทำรายละเอียดโครงการภายใต้แผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย – ลาว ระยะ 3 ปี ตามมติที่ประชุมดังกล่าว
หลังจากนั้น กรมความร่วมมือฯ ได้หารือร่วมกับหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมและได้มีโทรเลขไปยัง สอท. ณ เวียงจันทน์ เพื่อแจ้งให้ฝ่ายลาวทราบว่ามีการปรับสาขาเพิ่มเติมภายใต้แผนงานความร่วมมือฯ เพื่อความชัดเจนและให้สอดคล้องกับการดำเนินการต่อไป เป็น 7 สาขา ได้แก่ (1) สาขาเกษตร (2) สาขาการศึกษาและกีฬา (3) สาขาสาธารณสุข (4) สาขาการค้า อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว (5) สาขาสิ่งแวดล้อม (6) สาขาการพัฒนาสังคมและธรรมาภิบาล และ (7) สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (คำขออบรมเฉพาะด้าน)
โครงการ Project on SMEs Development (ODOP) ใน สปป.ลาว เป็นหนึ่งในแผนความร่วมมือฯ ซึ่งอยู่ภายใต้สาขาการค้า อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว
กลไกการบริหารงาน การประชุม PSC ภายใต้โครงการฯ ปีละ 1 ครั้ง (รอยืนยัน)
หน่วยงานดำเนินโครงการ ฝ่ายไทย : อยู่ระหว่างรอยืนยัน / ฝ่ายลาว : กรมส่งเสริมการค้า กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาโดยสังเขป
1. การหารือเบื้องต้นระหว่างไทยกับ สปป. ลาว
- ฝ่ายไทยโดยกรมความร่วมมือฯ ได้มีโทรเลขขอข้อมูลเพิ่มเติมจากฝ่ายลาวและนัดหมายประชุมหารือรายละเอียดกิจกรรมโครงการซึ่งฝ่ายลาวได้ตอบรับการประชุมดังกล่าว นายไซสมเพ็ด นอละสิง อธิบดีกรมส่งเสริมการค้า กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
- เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2563 กรมความร่วมมือฯ ได้จัดการประชุมหารือทางไกลเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ ODOP กับกรมส่งเสริมการค้า สปป. ลาว ผ่านทาง Video Conference โดยมีนางศศิธร ว่องวีรโชติกิจ รองอธิบดีกรมความร่วมมือฯ และนายไซสมเพ็ด นอละสิง อธิบดีกรมส่งเสริมการค้า กรมส่งเสริมการค้า กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว เป็นประธานร่วม เพื่อหารือวัตถุประสงค์ พื้นที่ และกิจกรรมของโครงการ ODOP
2. วัตถุประสงค์ของโครงการ
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าโครงการ ODOP มุ่งพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ODOP และความรู้/ทักษะของผู้ประกอบการ ODOP ของฝ่ายลาวในด้านต่าง ๆ เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การวิเคราะห์และส่งเสริมการตลาด เป็นต้น
3. พื้นที่และกิจกรรมของโครงการ
3.1 ตามกรอบแผนงานเดิมได้ระบุพื้นที่โครงการไว้ 5 พื้นใน สปป.ลาว ได้แก่ แขวงนครหลวงเวียงจันทน์ แขวงจำปาสัก แขวงเชียงขวาง แขวงเวียงจันทน์ และแขวงสะหวันนะเขต
3.2 หลังจากการประชุมหารือ ฝ่ายลาวเสนอพื้นที่ใหม่ซึ่งเห็นว่ามีศักยภาพเชิงพาณิชย์และจะเป็นผลประโยชน์ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่ ดังนี้ (1) แขวงสาละวัน (2) แขวงไซยบุรี (3) แขวงเชียงขวาง (4) แขวงหลวงน้ำทา และ (5) แขวงอุดมไซ (แผนที่ขนาดใหญ่ดังแนบ)
3.3 กิจกรรมภายใต้โครงการ
3.3.1 ตามกรอบแผนงานฯ เดิมกิจกรรมจะประกอบด้วย (1) การจัดหลักสูตรฝึกอบรมเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (2) การสนับสนุนอุปกรณ์/เครื่องมือสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง (3) การศึกษาดูงานในไทยสำหรับผู้ประกอบการ ODOP (4) การจัดกิจกรรมการจับคู่ทางธุรกิจ (Business matching) (5) การจัดงานแสดงและส่งเสริมผลิตภัณฑ์การค้าชายแดนระหว่าง สปป. ลาว กับประเทศเพื่อนบ้าน (6) การจัดให้มีศูนย์/ห้องแสดงสินค้า ODOP (ODOP Showroom) ใน สปป. ลาว
3.3.2 หลังจากการประชุมหารือดังกล่าวที่ประชุมเห็นพ้องเรื่องกิจกรรมภายใต้โครงการซึ่งประกอบด้วย (1) การจัดฝึกอบรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการฝ่ายลาว จำนวน 25 คน (5 คนจากแต่ละแขวง) (2) การจัดฝึกอบรมด้านการส่งเสริมการตลาดโดยมีผู้ประกอบการ (25 คน) และจนท. ของรัฐ (5 คน) จากฝ่ายลาวเข้าร่วม (3) การศึกษาดูงานในไทยโดยมุ่งไปที่ จ. เชียงใหม่ ขอนแก่น และกรุงเทพฯ เพื่อจะได้ศึกษาเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ OTOP ของไทยจากภูมิภาคต่าง ๆ และ (4) การจับคู่ทางธุรกิจและการจัดแสดง/ส่งเสริมสินค้าบริเวณชายแดน ทั้งนี้ ในส่วนของการสร้างศูนย์/ห้องแสดงสินค้า ODOP (ODOP Showroom) ใน สปป. ลาว ฝ่ายลาวแจ้งว่าเนื่องจากเคยไปศึกษาดูงานที่ จ. อุบลราชธานี กอปรกับอยากให้เป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ODOP ในแขวงอื่น ๆ ซึ่งเดิมในสปป. ลาว มีอยู่แล้วใน ๓ แขวงคือ หลวงน้ำทา อุดมไซ และสาละวัน ฝ่ายไทยเสนอว่าอาจจะช่วยในการออกแบบจัดผังของอาคารแสดงสินค้า ODOP ที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยและน่าสนใจมากขึ้น เน้นเรื่องการส่งเสริมการตลาดผ่านทางช่องทาง E-commerce และ พัฒนาเว็บไซต์ ODOP ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่มีการใช้จ่ายออนไลน์มากขึ้นโดยไม่มีการก่อสร้าง/จัดตั้ง ODOP Showroom ขึ้นมาใหม่ ซึ่งฝ่ายลาวเห็นพ้องด้วยแล้ว
4. การดำเนินการขั้นต่อไป
4.1 ส่วนให้ฯ 2 ได้ขอให้ฝ่ายลาวส่งข้อมูลเพิ่มเติมผ่านทาง สอท. ณ เวียงจันทน์ (คุณปนัดดา ริคารมย์ เลขานุการเอก) อาทิ (1) โครงสร้าง ODOP ใน สปป. ลาว (2) ข้อมูลศูนย์แสดงสินค้า ODOP ใน 3 แขวงดังกล่าว (3) ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น (4) ข้อมูลภาคเอกชนที่มีศักยภาพเกี่ยวกับการพัฒนาและผลิตสินค้า (4) จำนวนผู้ประกอบการ และข้อมูลการค้าของทั้ง 5 แขวงที่จะร่วมโครงการ
4.2 ภายหลังจากส่วนให้ฯ ๒ ได้รับข้อมูลเพิ่มเติม ตามข้อ 4.1 จากฝ่ายลาวแล้ว ส่วนให้ฯ 2 จะปรับ Log Frame ให้สอดคล้องกับโครงการและหารือร่วมกับฝ่ายลาวต่อไป
**************************************
ส่วนให้ความร่วมมือกับต่างประเทศ 2
กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ
16 ธันวาคม 2563
พื้นที่โครงการ SMEs Development (ODOP) สปป. ลาว
การสำรวจศักยภาพพื้นที่ท่องเที่ยวเมืองเฟือง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
และหารือแนวทางการดำเนินโครงการ Community – Based Ecotourism (Click Here)