กรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้รับโล่เกียรติยศ “องค์กรคนดี” ประจำปี ๒๕๖๕

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้รับโล่เกียรติยศ “องค์กรคนดี” ประจำปี ๒๕๖๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 6 ก.ย. 2565

| 3,003 view

วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๕ นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ รับมอบโล่เกียรติยศ “องค์กรคนดี” ประจำปี ๒๕๖๕ จากศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ที่อาคารรัฐสภา โดยโครงการ “องค์กรคนดี” โดยมีหน่วยงานที่ได้รับโล่เกียรติยศ “องค์กรคนดี” ประจำปี ๒๕๖๕ จำนวน ๖๕ หน่วยงาน ประกอบด้วย องค์กรภาครัฐ ๒๘ องค์กร ภาคเอกชน ๒๓ องค์กร ภาคชุมชน ๕ องค์กร ภาคประชาสังคม ๙ องค์กร

โครงการ “องค์กรคนดี” ดำเนินงานโดยคณะอนุกรรมาธิการด้านคุณธรรมและจริยธรรม คณะทำงานคนดี สังคมดี ในคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ที่ได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างภาพทรัพยากรมนุษย์ และแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๔) โดยมีเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนคุณธรรมจริยธรรมให้แก่คนไทยในทุกช่วงวัย ภายใต้หลักคุณธรรม ๕ ประการ ได้แก่ กตัญญู วินัย สุจริต พอเพียง และจิตอาสา เชื่อมโยงกับสถาบันหลักของชาติ ได้แก่ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุนี้ คณะอนุกรรมาธิการด้านคุณธรรมและจริยธรรม และคณะทำงานคนดี สังคมดี ได้พิจารณาสรรหาและคัดเลือกองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่ยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม และหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานเป็นที่ประจักษ์ในสังคม เพื่อมอบโล่เกียรติยศ “องค์กรคนดี” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่บริหารงานโดยยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม และหลักธรรมภิบาล เป็นที่ประจักษ์ในสังคม มีผู้นำองค์กรเป็นแบบอย่างและมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมกิจกรรมสร้างคนดีให้เกิดขึ้นในสังคม เป็นต้นแบบองค์กรคนดีที่สามารถแนะนำวิธีการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรภายในองค์กรให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและมีคุณธรรมจริยธรรม และสามารถขยายผลไปสู่องค์กรอื่นของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศมีกระบวนการพัฒนาบุคลากรเพื่อพัฒนาสมรรถนะในการปฏิบัติงานให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ โดยมีการจัดทำแผนพัฒนาบุคลากรกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ระยะ ๓ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๓ – ๒๕๖๕) ให้กับข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างในทุกสายงาน โดยครอบคลุมทั้งความรู้เชิงวิชาการ และการพัฒนาเชิงพฤติกรรมเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้บรรลุผลสัมฤทธิ์ ทั้งนี้กรมความร่วมมือฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกระดับเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และการปฏิบัติงาน เนื่องจากกรมความร่วมมือฯ มีภารกิจในการเผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในต่างประเทศเพื่อเป็นพื้นฐานการดำเนินงานที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก

นอกจากนี้กรมความร่วมมือฯ ได้ริเริ่ม และสนับสนุนให้บุคลากรทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยเฉพาะกิจกรรมที่ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความสมดุลในชีวิตงานและชีวิตส่วนตัว โดยมีผู้บริหารสูงสุดขององค์กรเป็นผู้นำและแบบอย่างในการดำเนินงาน อาทิ
- โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕
- โครงการส่งขยะกำพร้ากลับบ้าน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่อธิบดีริเริ่มให้บุคลากรในกรมฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีบุคลากรของกรมฯ ร่วมเป็นจิตอาสาอำนวยความสะดวกในการรับขยะกำพร้า โครงการฯ ได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งหน่วยงานในศูนย์ราชการ ประชาชนทั่วไป และนักเรียน นักศึกษาที่มาส่งขยะกำพร้า รวมทั้งอาสามาทำงานอำนวยความสะดวกในการรับขยะกำพร้า รวมทั้งมีหน่วยงานในบริเวณใกล้เคียงมาเรียนรู้การแยกขยะเพื่อนำกลับไปสอนให้บุคลากรในหน่วยงานของตน

โดยมีอธิบดีเป็นผู้ริเริ่มดำเนินโครงการด้านจิตอาสาของกรมฯ เช่น โครงการส่งขยะกำพร้ากลับบ้าน รวมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมให้บุคคลากรเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในทุก ๆ เรื่อง โดยผลการดำเนินงานของกรมฯ ที่ได้รับการยกย่องจากหน่วยงานอื่น อาทิ Japan International Cooperation Agency (JICA) มอบรางวัล 17th JICA President Award เนื่องจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้ให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานของอาสาสมัครญี่ปุ่นในประเทศไทยเป็นอย่างดีตลอดระยะเวลาสี่ทศวรรษที่ผ่านมา รวมทั้งประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่รับอาสาสมัครญี่ปุ่นกลับเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทย และสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Department of Economic and Social Affairs – UN DESA) คัดเลือกโครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends from Thailand) เป็นตัวอย่างความสำเร็จและแนวปฏิบัติที่ดีในการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ SDGs (SDG Good Practices, Success Stories and Lessons Learned in the Implementation of the 2030 Agenda) ที่จะนำไปใช้แบ่งปันประสบการณ์กับประเทศต่าง ๆ องค์กร หน่วยงาน และประชาชนที่สนใจประเด็นการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ