การศึกษาดูงานและสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) จ. เชียงใหม่

การศึกษาดูงานและสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) จ. เชียงใหม่

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ธ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,451 view

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ นำโดย นายวัฒนวิทย์ คชเสนี รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทซ พร้อมด้วยผู้แทนจากส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปศึกษาดูงานและสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) จ. เชียงใหม่ ระหว่างวันที่  ๒ – ๔ ธันวาคม ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา

นอกเหนือจากการรับฟังบรรยายสรุปและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาในพื้นที่สูง การบริหารจัดการ ฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เกษตรปลอดภัย และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งในระดับเจ้าหน้าที่และชุมชนแล้ว คณะฯ ยังได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานด้านการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง เกษตรทฤษฎีใหม่ การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมถึงการรวมกลุ่มเกษตรกร และการท่องเที่ยวโดยชุมชน ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) ที่ปางแดงใน ห้วยเป้า และปางมะโอ โดยมีปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางอีกด้วย

การศึกษาดูงานในครั้งนี้ คณะฯ ได้เรียนรู้เพิ่มเติมในหลากหลายประเด็นทั้งในด้านองค์ความรู้เชิงวิชาการ หลักและแนวทางในการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช อาทิ (๑) การพัฒนาควรให้เหมาะสมกับภูมิสังคม (๒) ทำให้ดู ทำให้เห็น ทำเป็นตัวอย่าง (๓) การสร้างต้นแบบการพัฒนา อาทิ ฝายกั้นน้ำที่ง่ายและชาวบ้านทำเองได้ ตลอดจนบทบาทและความสำคัญของเจ้าหน้าที่ด้านการพัฒนาของไทยที่เข้าไปฝังตัวในพื้นที่เพื่อทำงานร่วมกับชุมชน เริ่มจากการรับฟังปัญหาและความต้องการที่แท้จริงในพื้นที่ การหาทางแก้ไขโดยอาศัยองค์ความรู้และการมีส่วนร่วมของชุมชน ไปจนถึงการรวมกลุ่มและการเข้าถึงตลาด
ซึ่งแม้จะมีกระบวนการที่คล้ายคลึงกันแต่ก็มีความแตกต่างกันไปในแต่ละบริบทของพื้นที่

คาดว่าในอีกไม่นาน คงได้เห็นความร่วมมือที่ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมถึงสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) เพื่อร่วมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักการทรงงาน และแนวทางการพัฒนาชุมชนอย่างครอบคลุม ยั่งยืนและครบวงจร ที่ไทยได้พิสูจน์และเห็นผลจริงเป็นรูปธรรมแล้วในพื้นที่ไปเผยแพร่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในมิตรประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นคู่ร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศในเร็ว ๆ นี้

โครงการพัฒนาฯ ปางแดงใน เป็นพื้นที่ที่ชาวดาราอั้งอพยพมาจากเมียนมา ไม่มีสัญชาติไทย และบุกรุกพื้นที่ป่าทำให้ชาวบ้านถูกดำเนินคดี ชาวบ้านทำการเกษตรเชิงเดี่ยว โดยการปลูกข้าวโพดและถางป่า มีรายได้น้อย และมีหนี้สิน ต่อมาชาวบ้านได้รับการอภัยโทษและได้รับการจดทะเบียนราษฎร มีบัตรประชาชนและเรียนรู้ภาษาไทย โครงการได้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนและปลดหนี้ โดยการเชิญชวนให้ชาวบ้านปลูกพืชเศรษฐกิจควบคู่กับการอนุรักษ์ป่า แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น แจกหญ้าแฝกให้ชาวบ้านปลูกเพื่อลดการพังทลายของหน้าดิน พร้อมทั้งแจกต้นลำไย และส่งเสริมการปลูกแคนตาลูฟในโรงเรือนให้แก่ชาวบ้านที่สนใจ ปัจจุบันชาวบ้านมีรายได้เพิ่มเงิน หนี้ลดลง นอกกจากนี้ ได้สอนวิธีการรวมกลุ่มเพื่อขายผลผลิตทางการเกษตรให้มีอำนาจในการต่อรองราคากับนายทุน

โครงการพัฒนาฯ ห้วยเป้า หมู่บ้านห้วยเป้าเป็นหมู่บ้านที่มีจุดเด่นด้านความเข้มแข็งของชุมชน มีการบริหารจัดการที่ดี และมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ เป็นที่เคารพของชาวบ้าน ชาวบ้านมีความใกล้ชิดกัน มีการแบ่งกลุ่ม เพื่อจดบัญชีครัวเรือนร่วมกันในแต่ละวัน โครงการต่างๆ ของผู้ใหญ่บ้านสำเร็จลุล่วงจากการให้ความร่วมมือของชาวบ้าน อาทิ โครงการจัดการขยะ โครงการปลูกป่าฟื้นฟูป่าต้นน้ำและสร้างฝายชะลอน้ำ ผนวกกับความช่วยเหลือจาก สวพส. ทำให้ผลผลิตจากทางชุมชนสามารถแข่งขันในตลาดห้างสรรพสินค้าในตัวเมือง และแทนที่ Supplier เจ้าเดิมได้

โครงการพัฒนาฯ ปางมะโอ หมู่บ้านปางมะโอเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ราบสูงบนภูเขา ทำให้หมู่บ้านมีจุดเด่น คือ ทรัพยากรทางธรรมชาติที่หายากและผลผลิตที่หาได้ในป่าที่สูงเท่านั้น สวพส. ได้เข้ามาช่วยด้านการรวมกลุ่ม และด้านความรู้เรื่องการประกอบอาชีพเกษตรกรรมแทนเก็บของป่า ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มจากการทำเกษตรกรรมที่เป็นระบบมากขึ้น โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ