ภารกิจ ขอบเขต และเป้าหมาย
ภารกิจ
กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ มีภารกิจเสนอแนะนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการบริหารความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล กลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ องค์การเอกชนระหว่างประเทศ นิติบุคคลต่างประเทศ หรือองค์กรใดที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงการขยายบทบาทไทยในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในเวทีระหว่างประเทศ และการบูรณาการการให้ความร่วมมือพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไทย เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์กับนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในระดับประเทศและประชาชน
ขอบเขต
ขอบเขตงานของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ สามารถกำหนดได้ ดังนี้
๑. จัดทำยุทธศาสตร์และแผนงานการให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศทั้งรายประเทศ ภูมิภาคและอนุภูมิภาค รายสาขา รวมทั้งการติดตามและประเมินผล
๒. ดำเนินภารกิจให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ภายใต้กรอบเป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืนด้วย หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาล
๓. ร่วมมือกับนานาประเทศในการขยายความร่วมมือแบบหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในกรอบทวิภาคี พหุภาคี และไตรภาคี ทั้งกับภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม
๔. บริหารงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งการให้ทุนศึกษา/ฝึกอบรม/ดูงาน กับประเทศกำลังพัฒนา
๕. จัดทำระบบ และพัฒนาคลังข้อมูลการให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ให้เป็นเอกภาพระหว่างหน่วยงานของไทย และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
๖. บริหารงานความร่วมมือตามแผนงานโครงการความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อการพัฒนากับต่างประเทศในการอำนวยความสะดวกด้านสิทธิพิเศษและพิธีการภาษี ควบคุมและตรวจสอบการใช้พัสดุ รวมถึงบริหารงบประมาณเพื่อดำเนินกิจกรรมโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนา รวมทั้งเงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ให้เป็นไปตามระเบียบ และข้อตกลง
๗. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของกรม หรือตามที่กระทรวง หรือที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
เป้าหมาย
เป้าหมายการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับต่างประเทศของไทย กรมความร่วมมือระหว่างประเทศในฐานะหน่วยงานหลักในการดูแลรับผิดชอบงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไทย ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งกรมฯ ได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานที่ยึดโยงและสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ทุกระดับ เพื่อให้เกิดประโยชน์ของประเทศไทยและแสดงบทบาทที่เหมาะสมในการเป็นหุ้นส่วนเพื่อเสริมสร้างการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่างๆ ดังนี้
๑. ส่งเสริมความมั่นคง (Security) ของไทย โดยเป็น Soft Diplomacy ในการรักษาและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระดับรัฐ และสร้างทัศนคติเชิงบวก ความเข้าใจ ในระดับประชาชนกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นรากฐานความสัมพันธ์ที่มั่นคงระยะยาว เพื่อหวังผลการเป็น “มิตรที่ดี” ต่อกัน
๒. สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศต่างๆ (Sustainability) ผ่านการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของไทย โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
๓. เสริมสร้างความเป็นมาตรฐานสากล (Standard) ของหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมของไทยในสาขาที่ไทยมีขีดความสามารถให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ และจากประสบการณ์การทำงานร่วมกับประเทศหุ้นส่วนที่พัฒนาแล้วและองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ให้นำไปสู่การสร้างความเป็นเลิศ และนำมาปรับใช้ในการพัฒนาภายในประเทศไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
๔. ยกระดับสถานะและเกียรติภูมิ (Status) ของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ (emerging donor) และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา และภาพลักษณ์ไทยในการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ในเวทีระหว่างประเทศ กรอบความร่วมมือภูมิภาคและอนุภูมิภาค
๕. แสดงพลัง (Synergy) ของประเทศไทยในบทบาท Team Thailand for Development Cooperation ในการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไทย ร่วมกับทุกภาคส่วน หน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมของไทย รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ