วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ส.ค. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 2 ส.ค. 2565
TICA ร่วมกับ กรมอนามัย จัดอบรม Online Annual International Training Course on “Oral Health and Health Promoting in School Setting and Community” ระหว่างวันที่ ๗ – ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
หลักสูตรดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และทักษะ/แนวคิดในการสร้างเสริมสุขภาพ และปรับปรุงความรู้เกี่ยวกับสุขภาพช่องปากและปัจจัยการกำหนดสุขภาพ แลกเปลี่ยนความรู้โครงการส่งเสริมสุขภาพช่องปากและการสร้างเสริมสุขภาพในโรงเรียน และการสร้างเครือข่ายด้านสุขภาพ และส่งเสริมสุขภาพช่องปากในระดับภูมิภาคและระดับสากล
TICA ได้ประชาสัมพันธ์หลักสูตรดังกล่าวผ่านสถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ของไทย พบว่า มีผู้สมัครเข้าร่วมจำนวน ๖๓ ราย จาก ๒๑ ประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๐ จำนวน ๓๐ ราย จาก ๙ ประเทศ ได้แก่ กายอานา ศรีลังกา ไนจีเรีย นิการากัว เอกวาดอร์ ปานามา จอร์แดน อียิปต์ และภูฏาน
สำหรับพิธีเปิดหลักสูตรนั้น ดร.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย และ นายชีวินท์ ณ ถลาง รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้กล่าวให้การต้อนรับผู้เข้ารับการอบรม และได้แนะนำภารกิจและบทบาทของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับทราบ
TICA ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การอบรม พบว่า การอบรมครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้ารับการอบรมจากหลากหลายประเทศ เนื่องจากเป็นการบรรยายเกี่ยวกับหลักปฏิบัติเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาวะทางช่องปาก เช่น
(๑) การดูแลสุขภาพช่องปากโดยบรรยายถึงความสำคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาพและพัฒนาการในส่วนของช่องปาก ซึ่งถือเป็นประตูสู่สุขภาพ เพราะเป็นช่องทางนำสารอาหารเข้าสู่ร่างกาย
(๒) แนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพในสถานศึกษา โดยอธิบายถึงความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับเด็กในวัยเรียน เนื่องจากภาวะสุขภาพของเด็กในวัยเรียนและเยาวชนจะเป็นพื้นฐานของภาวะสุขภาพตลอดชีวิตที่มีอยู่ ทั้งยังเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและจิตใจ อารมณ์ สติปัญญา จิตวิญญาณ
(๓) โปรแกรมสุขภาพช่องปากในโรงเรียน โดยยรรยายถึงการลดการบริโภคน้ำตาลในเด็กเพื่อป้องกันฟันผุ การแปรงฟันโดยใช้หลักการ Brushing Teeth 222 และ
(๔) ชุมชนบนพื้นฐานของความรู้สุขภาพช่องปากในฟลูออโรซิส โดยบรรยายความรู้เรื่องฟันตกกระ (Dental Fluorosis) ที่เกิดจากการได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณที่มากเกินปกติเป็นระยะเวลานานช่วงระหว่างการสร้างฟัน
ในด้านวิธีการจัดฝึกอบรมนั้น ได้ดำเนินการผ่านแอพพลิเคชั่น Zoom Meeting เป็นช่องทางหลักในการบรรยายสด โดยผู้จัดหลักสูตรได้แจ้งลิ้งค์และรหัสเข้าห้องเรียนให้ผู้เข้าร่วมก่อนวันเปิดหลักสูตร ใช้ Google Drive เป็นช่องทางที่ผู้จัดใช้จัดเก็บเอกสาร และวีดิโอการเรียนการสอนในแต่ละวัน ภายหลังจากการจัดหลักสูตรฝึกอบรม
TICA ได้จัดทำแบบประเมินความพึงพอใจให้ผู้เข้าร่วมอบรม โดยแบ่งการประเมินออกเป็น ๒ ส่วน ดังนี้
(๑) การประเมินความพึงพอใจผ่านการให้คะแนน สรุปผลการประเมินจากผู้ทำแบบประเมิน ๓๕ ราย ร้อยละ ๙๐ พึงพอใจกับความเกี่ยวข้องและการนำความรู้ที่ได้รับจากหลักสูตรฝึกอบรมไปประยุกต์ใช้กับงานที่ปฏิบัติได้ ร้อยละ ๘๘ พึงพอใจกับเนื้อหาหลักสูตรโดยเห็นว่า มีความน่าสนใจ ร้อยละ ๘๗ ค่อนข้างพึงพอใจกับรูปแบบการจัดหลักสูตร ร้อยละ ๙๐ พึงพอใจกับการบริหารจัดการหลักสูตร และการประสานงานของผู้จัดหลักสูตร
(๒) การแสดงความคิดเห็นในการเข้าร่วมหลักสูตรผู้เข้าร่วมกล่าวถึงการสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปปรับใช้ในการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพช่องปากโดยเฉพาะในเด็กรวมทั้งได้รับความรู้ในการปรับพฤติกรรม ลด ละ เลี่ยง พฤติกรรมต่าง ๆ ที่อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาวะทางช่องปากอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดความยั่งยืนในอนาคต รวมถึงการร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมอบรมในการจัดการ/แก้ไขปัญหาโรคทางช่องปาก
รูปภาพประกอบ