การฝึกอบรมนานาชาติ หลักสูตร Early Childhood Health Promotion and Health Care Management: Beyond COVID-19 Era

การฝึกอบรมนานาชาติ หลักสูตร Early Childhood Health Promotion and Health Care Management: Beyond COVID-19 Era

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ก.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 ก.ค. 2565

| 754 view

TICA ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดการฝึกอบรม Online Annual International Training Course on “Early Childhood Health Promotion and Health Care Management: Beyond COVID-19 Era" ระหว่างวันที่ ๒ - ๑๕ มีนาคม  ๒๕๖๕

หลักสูตรดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของไทยในการจัดการสุขภาพของเด็กปฐมวัย เพื่อส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดี รวมถึงมีสุขภาพจิตและความฉลาดทางอารมณ์ที่เหมาะสมกับวัย ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

TICA ได้ประชาสัมพันธ์และแจ้งเวียนทุนหลักสูตรนี้ผ่านสถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ของไทยพบว่า มีผู้สมัครเข้าร่วมจำนวน ๑๐๒ ราย จาก ๒๒ ประเทศ โดยเข้าร่วมการฝึกอบรมไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๐ จำนวน ๔๕ ราย จาก ๑๘ ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ กายอานา อินโดนีเซีย อิรัก อิหร่าน โมร็อกโก เนปาล ปากีสถาน ปานามา ศรีลังกา ติมอร์-เลสเต ภูฏาน อินเดีย ลาว เมียนมา และตุรกี

สำหรับพิธีเปิดหลักสูตรนั้น รศ.ผศ.ดร.นงนุช บุญยัง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ และอาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวเปิดการฝึกอบรม พร้อมด้วย ดร.หทัยชนก ศิริวัฒนกุล ผอ.กองความร่วมมือด้านทุน กล่าวเปิดการฝึกอบรมและแนะนำภารกิจและบทบาทของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับทราบ โดยการจัดฝึกอบรมในครั้งนี้ได้ดำเนินการผ่านแอพพลิเคชัน Zoom Cloud Meeting ซึ่งใช้เป็นช่องทางหลักในการบรรยายสดตลอดทั้งหลักสูตร

TICA ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึกอบรม พบว่า การฝึกอบรมครั้งนี้มีเนื้อหาที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ เนื่องจากเป็นการบรรยายเกี่ยวกับการจัดการสุขภาพเด็กปฐมวัย รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพจิตและความฉลาดทางอารมณ์ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เช่น

(๑) Roles of Family in Early Childhood Health Promotion and Health Care beyond COVID-19 Era ได้อธิบายถึงบทบาทของครอบครัวในการส่งเสริมสุขภาพและการจัดการสุขภาพเด็กปฐมวัยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยวิทยากรได้อธิบายการปรับตัวของครอบครัวให้พร้อมรับความปกติใหม่ (New Normal) สำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อเสริมสร้างให้เด็กมีความคุ้นชินและเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมปกติใหม่ โดยได้ยกตัวอย่างการรักษาสุขอนามัยของเด็กปฐมวัย  เช่น การฝึกสวมหน้ากากอนามัย การฝึกล้างมือ และการหลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่หรือสิ่งต่าง ๆ ร่วมกับผู้อื่น

(๒) Early Childhood Health Promotion ได้อธิบายการส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีของเด็กปฐมวัยผ่านการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน โดยการส่งเสริมการฉีดวัคซีนขั้นพื้นฐานให้แก่เด็กทุกคน รวมถึงส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากนมแม่มีสารปรับภูมิคุ้มกันร่างกาย ซึ่งจะช่วยให้เด็กปฐมวัยในช่วงวัยทารก ได้รับภูมิคุ้มกันธรรมชาติ ส่งผลทำให้เด็กมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ลดอัตราการเกิดโรคภูมิแพ้ นอกจากนี้ วิทยากรยังได้อธิบายถึงภูมิคุ้มกันจากนมแม่ในการช่วยต่อต้านเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพราะเด็กในช่วงวัยทารกยังไม่สามารถรับวัคซีนต้านเชื้อได้ ดังนั้นนมแม่จึงเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดสำหรับเด็กในวัยนี้

(๓) “Emotional Quotient (EQ) Promotion ได้อธิบายการส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์ในเด็กปฐมวัย โดยได้อธิบายองค์ประกอบสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ ๓ ด้านได้แก่ ๑. ด้านดี หมายถึง ความพร้อมทางอารมณ์ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น ๒. ด้านเก่ง หมายถึง ความพร้อมทางอารมณ์ที่จะพัฒนาตนเองไปสู่ความสำเร็จ และ ๓. ด้านสุข หมายถึง ความพร้อมทางอารมณ์ที่จะทำให้ตนเองมีความสุข

TICA ได้จัดทำแบบประเมินความพึงพอใจให้แก่ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรม โดยแบ่งการประเมินออกเป็น ๒ ส่วน ดังนี้

(๑) การประเมินความพึงพอใจผ่านการให้คะแนน สรุปผลการประเมินจากผู้ทำแบบประเมิน ๓๕ ราย พบว่า ร้อยละ ๘๙ พึงพอใจในการเข้าร่วมหลักสูตรดังกล่าว โดยมีความเห็นว่า สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมและจัดการสุขภาพเด็กปฐมวัยในด้านต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับประเทศของตน โดยเฉพาะแนวทางด้านการดูแลและส่งเสริมการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย (Early Childhood Care and Education: ECCE) ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพในด้านความฉลาดทางอารมณ์และโภชนาการสำหรับเด็กปฐมวัย

(2) การแสดงความคิดเห็นในการเข้าร่วมหลักสูตร ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมกล่าวถึงความร่วมมือในอนาคตระหว่างประเทศไทยกับประเทศของตนในด้านความร่วมมือเชิงวิชาการ เช่น การจัดหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาจารย์ การทำวิจัยเพื่อพัฒนาพัฒนาการและสุขภาพของเด็กปฐมวัย รวมถึงการศึกษาดูงานเกี่ยวกับการจัดการและการส่งเสริมสุขภาพของเด็กปฐมวัยในประเทศไทย เนื่องจากในหลายประเทศยังขาดองค์ความรู้และการสนับสนุนทางวิชาการด้านการส่งเสริมและการจัดการสุขภาพเด็กปฐมวัย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ