การศึกษาดูงานด้านการวิจัยและปลูกพืชควินัวที่สถานีเกษตรหลวงปางดะ อ. สะเมิง จ. เชียงใหม่

การศึกษาดูงานด้านการวิจัยและปลูกพืชควินัวที่สถานีเกษตรหลวงปางดะ อ. สะเมิง จ. เชียงใหม่

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ก.พ. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 944 view

เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดี กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ พร้อมคณะ และ H.E. Alex Geiger Soffia เอกอัครราชทูตชิลี ประจำประเทศไทย ได้เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการวิจัยและปลูกพืชควินัวที่สถานีเกษตรหลวงปางดะ อ. สะเมิง จ. เชียงใหม่ โดยมี รศ. ดร. ปิติพงษ์ โตบันลือภพ หัวหน้าแผนกวิจัยควินัวและอาจารย์ประจำภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะให้การต้อนรับและบรรยายสรุป

การส่งเสริมการปลูกควินัวในประเทศไทยเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือ เพื่อการพัฒนา ไทย - ชิลี ซึ่งเริ่มขึ้นจากการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีชิลี เมื่อปี ๒๕๕๖ ซึ่งชิลีได้มอบเมล็ดพันธุ์ควินัวให้แก่ประเทศไทยเพื่อทำการศึกษาวิจัยและทดลองปลูก ซึ่งต่อมา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ประสบผลสำเร็จจนสามารถคัดเลือกสายพันธุ์ที่ปรับตัวได้ดี ในประเทศไทย และได้ขึ้นทะเบียน ๒ สายพันธุ์ในนามมูลนิธิโครงการหลวงฯ ได้แก่ ๑) สายพันธุ์แดงห้วยต้ม และ ๒) สายพันธุ์เหลืองปางดะ และได้ส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงเพาะปลูกคิวนัว ทั้งสองสายพันธุ์ในเชิงการค้า โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับควินัว อย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันกำลังศึกษาวิจัยและเตรียมขึ้นทะเบียนควินัวเมล็ดสีดำ และเมล็ดสีน้ำตาลแดง รวมทั้งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากควินัว และห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ด้วย

การวิจัยและส่งเสริมการปลูกควินัวนับเป็นการเพิ่มทางเลือกด้านการเพาะปลูก ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรบนพื้นที่สูงและพื้นที่ราบที่มีข้อจำกัดหรือปัญหา ด้านการเกษตรต่างๆ เนื่องจากควินัวเป็นพืชที่มีความต้องการปัจจัยการผลิตต่ำ เช่น ปุ๋ย รวมทั้ง มีศัตรูพืช โรคและแมลงน้อย เกษตรกรจึงใช้สารเคมีในระหว่างการเพาะปลูกน้อยมาก และไม่มี ความจำเป็นต้องขยายหรือเคลื่อนย้ายพื้นที่เพาะปลูก นอกจากนี้ ควินัวยังเป็นธัญพืชที่เป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกได้ เนื่องจากมีโปรตีนสูง อุดมไปด้วยสารอาหารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย รวมทั้งยังให้พลังงานสูง และเต็มไปด้วยกากใย

ผลจากความสำเร็จในการค้นคว้าวิจัยและส่งเสริมการปลูกควินัวในประเทศไทยดังกล่าว ทำให้ไทยและชิลีเห็นพ้องกันที่จะต่อยอดความร่วมมือด้านดังกล่าว และขยายความร่วมมือไปสู่ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยจะจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ