การหารือกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

การหารือกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ก.พ. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 708 view

เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและคณะ ได้เดินทางไปหารือกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ณ วิทยาลัยการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย ศูนย์แม่ริม โดยมี รศ. ดร. ชาตรี มณีโกศล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ ให้การต้อนรับ

ในโอกาสนี้ รศ. ดร. วัชรพงษ์ วัฒนกูล รองอธิการบดี ในฐานะผู้จัดโครงการความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียงสำหรับชุมชน OGOP ของราชอาณาจักรภูฏาน ได้บรรยายสรุปและนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการ OGOP Model II จากนั้น อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและคณะได้เยี่ยมชมนิทรรศการ OGOP การจัดการเรียนรู้ Smart Doi ผลิตภัณฑ์ศูนย์ ECOA และเยี่ยมชมเทคโนโลยี Smart Energy-Agriculture Learning Module ด้านพลังงานทางเลือก รวมทั้งเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่

นอกจากนี้ ดร. วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย ยังได้นำอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและคณะเยี่ยมชมชุมชนต้นแบบแห่ง การพึ่งพาตนเอง โครงการ “Chiang Mai World Green City and Smart Community” ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการเพื่อแสดงเทคโนโลยีสีเขียวในการใช้งานจริง เพื่อการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน ที่มุ่งเน้นความยั่งยืนใน ๕ ด้าน ได้แก่ พลังงาน อาหาร ที่อยู่อาศัย เศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม เช่น โซล่าร์ฟาร์ม สวนเศรษฐกิจพอเพียง บ้านประหยัดพลังงาน และระบบตรวจจับหมอกควัน

ในการนี้ อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและคณะได้หารือและแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นกับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เกี่ยวกับแนวทางการในการขยาย ความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ดังนี้

๑. การประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานโครงการ OGOP ซึ่งเป็นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียงไปประยุกต์ใช้ ทั้งนี้ อาจนำมาใช้ในการประชาสัมพันธ์ในช่วงเปิดตัวการจัดงาน Global South – South Development Expo 2022 (GSSD Expo 2022) ในวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๕ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นเจ้าภาพร่วมกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific – ESCAP) และสำนักงานสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ (United Nations Office for South-South Cooperation – UNOSSC)

๒. ความร่วมมือในช่วง Post covid ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ ได้แก่ ความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน การจ้างงาน และสาธารณสุข รวมทั้ง BCG Economic ที่เป็นวาระแห่งชาติ

๓. ความร่วมมือในกรอบ ACMECS เสาที่ ๓ Smart and Sustainable ACMCES ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะทุนฝึกอบรมระยะสั้นด้าน Urban Development Smart Farmer Smart Energy และการร่วมมือ/เป็นหุ้นส่วนกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศในการให้ทุนการศึกษากับประเทศสมาชิก ACMECS ในลักษณะความร่วมมือภาควิชาการกับภาครัฐ

๔. การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDG) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ ๑๗ Partnerships for the Goals โดยส่งเสริมความร่วมมือ แบบไตรภาคีกับประเทศต่างๆ เช่น อียิปต์ โมร็อกโก และชิลี

ในการนี้ รศ. ดร. ชาตรี มณีโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดีฯ ได้แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยจะได้หารือในรายละเอียดร่วมกันต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ