วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ส.ค. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 8 ส.ค. 2565
เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๕ นายวัฒนวิทย์ คชเสนี รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้ส่งมอบอาสาสมัครเพื่อนไทย (อสม.) ให้แก่ Mrs. Nguyen Thuy Hang (นางเหวียน ทวี๊ หั่ง) รองประธาน คณะกรรมการประชาชน อำเภอฝุเหลือง จังหวัดท้ายเงวียน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อปฏิบัติงานภายใต้โครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ณ จังหวัดท้ายเงวียน (Sustainable Community Development Project based on the Application of Sufficiency Economy Philosophy) โดยมี น.ส. เกตุ วัชระกร เลขานุการเอก ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย เข้าร่วมด้วย ณ สำนักงานคณะกรรมการประชาชน อำเภอฝุเหลือง โดยส่งมอบ อสม. จำนวน ๓ คน ได้แก่ (๑) น.ส. สุวัลญา สง่าแสง ปฏิบัติหน้าที่ นักพัฒนาการเกษตรด้านวนเกษตรและการจัดการสวนป่า (Agricultural Developer) (๒) น.ส. ปฏิญญา ดวงมะณี ปฏิบัติหน้าที่ นักแปรรูปผลผลิตชา (Tea Product Processor) และ (๓) นายยุทธภูมิ จิตรคง ปฏิบัติหน้าที่นักพัฒนาการท่องเที่ยว (Tourist Developer)
ซึ่ง อสม. ทั้ง ๓ คน จะปฏิบัติงานเป็นระยะเวลา ๑ ปี (ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๖๕ – มิถุนายน ๒๕๖๖) เพื่อทำหน้าที่ศึกษา สำรวจ และเก็บข้อมูลด้านการเพาะปลูกชา ระบบวนเกษตร การปลูกไม้เศรษฐกิจกิจในชุมชน การท่องเที่ยว โดยชุมชน และบริบทด้านสังคมและวัฒนธรรม ในพื้นที่เป้าหมาย ณ หมู่บ้าน Dong Bong และหมู่บ้าน Dong Tien ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลเอียนหลาก อำเภอฝุเหลือง ทั้งนี้ นายวัฒนวิทย์ฯ ได้หารือกับทางจังหวัดท้ายเงวียนและอำเภอฟุเหลือง รวมทั้งสำนักงานการต่างประเทศเพื่อขอรับสนับสนุนการทำงานของ อสม. ดังกล่าวในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งได้รับการตอบรับด้วยดี ในโอกาสนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยและเวียดนามได้เดินทางไป ๒ หมู่บ้าน เพื่อพบกับผู้นำชุมชนและกลุ่มชาวบ้าน พร้อมทั้งแนะนำ อสม. ให้แก่ชุมชนได้ทำความรู้จักระหว่างกัน รวมทั้งรับฟังการบรรยายข้อมูลพื้นฐานหมู่บ้านจากผู้แทนชุมชน การดำเนินงานโครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ประเทศเวียดนาม ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในการดำเนินงานโครงการฯ และกำกับการปฏิบัติงานของ อสม. โดยโครงการฯ มีวัตถุประสงค์การดำเนินงาน ดังนี้
๑) สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐและผู้นำชุมชนใน ๒ หมู่บ้าน
๒) จัดตั้งกลุ่มเกษตรกรและเครือข่ายชุมชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
๓) พัฒนาคุณภาพชาและเพิ่มมูลค่าชาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด
๔) พัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน จัดตั้งโฮมสเตย์ต้นแบบ
๕) พัฒนาระบบวนเกษตร (ปลูกป่าและพืชอื่น ๆ หรือเลี้ยงสัตว์) จัดตั้งแปลงทดลองและพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับภูมิสังคมของทั้งสองหมู่บ้าน การจัดการไม้ป่าและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
การส่งอาสาสมัครเพื่อนไทยไปปฏิบัติงานในเวียดนามครั้งนี้ ช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนการเผยแพร่แนวคิดการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินงานโครงการฯ โดยเฉพาะมิติด้านการพัฒนาการเกษตร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน และการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน ที่มุ่งเน้นการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐของเวียดนามและกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ สร้างความสัมพันธ์ระดับประชาชนและท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อให้โครงการมีผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายโครงการ และยังเป็นการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของประเทศคู่ร่วมมือในระยะยาวอีกด้วย
รูปภาพประกอบ