การฝึกอบรมนานาชาติ หลักสูตร Sustainable Community Development Applying Sufficiency Economy Philosophy from Theory to Practice 2022

การฝึกอบรมนานาชาติ หลักสูตร Sustainable Community Development Applying Sufficiency Economy Philosophy from Theory to Practice 2022

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ส.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 8 ส.ค. 2565

| 622 view

TICA ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติ Sustainable Community Development Applying Sufficiency Economy Philosophy from Theory to Practice 2022 ระหว่างวันที่ ๒๑ – ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านโปรแกรม Zoom Cloud Meeting

หลักสูตรดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้จากทฤษฎีไปสู่การนำไปใช้จริงในการพัฒนาชุมชน รวมถึงการปรับใช้ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชน สามารถพึ่งตนเองได้ สร้างเสริมชุมชนที่เข้มแข็ง และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน

จากการแจ้งเวียนทุนหลักสูตรนี้ ผ่านสถานเอกอัครราชทูต ของไทยพบว่า มีผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมจำนวน ๔๒ ราย จาก ๑๔ ประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมไม่ต่ากว่าร้อยละ ๘๐ จำนวน ๒๑ ราย จาก ๘ ประเทศ ได้แก่ ปานามา กายอานา อินโดนีเซีย ศรีลังกา ภูฏาน ฟิลิปปินส์ เมียนมา และ บังกลาเทศ

ในการเปิดหลักสูตรนี้ นายชีวินท์ ณ ถลาง รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวเปิดการอบรม พร้อมทั้งแนะนำบทบาทของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ส่วนการบรรยายถึงภาพรวมหลักสูตรนั้น นายพัลลภ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการกองแผนงาน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้บรรรยายหลัก

TICA ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การอบรมพบว่า เนื้อหาและความรู้จากหลักสูตรนี้ ถ่ายทอดความรู้อย่างครบถ้วนเกี่ยวกับแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยหลักสูตรดังกล่าวมุ่งเน้นการนำไปปรับใช้จริง ซึ่งเป็นการต่อยอดจากทฤษฎี วิทยากรมีความพร้อมในด้านเนื้อหาและด้านการบรรยาย มีความรู้ ประสบการณ์ และทักษะในการถ่ายทอดความรู้ ทำให้ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมสามารถเข้าใจได้ง่าย โดยเนื้อหาหลักสูตรประกอบด้วย

๑) ปูมหลังของการพัฒนาชนบทโดยชุมชนในประเทศไทย อธิบายถึงการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาการส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาชนบทโดยชุมชน เสริมสร้างพลังชุมชน และแนวคิด การพัฒนาที่จะช่วยขจัดความยากจน

๒) หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง: จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ อธิบายถึงความหมาย แนวคิด และภาพรวมของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การผลักดันเกี่ยวกับแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในประเทศไทย การสนับสนุน การปรับใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต และการสนับสนุนการปรับใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาชุมชน โดยเริ่มจากภายในหมู่บ้าน

๓) ทฤษฎีใหม่ ทางการเกษตร: การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในทางปฏิบัติ แนวคิดทฤษฎีเกษตรใหม่ประโยชน์ของทฤษฎีเกษตรใหม่ การประยุกต์ทฤษฎีทางการเกษตรใหม่ จากนั้น นำเสนอวีดิทัศน์กรณีศึกษา โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดจากโครงการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

๔) สินเชื่อรายย่อยในชุมชน อธิบายการบริหารจัดการองค์กรการเงินชุมชนให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งเป็นองค์กรรายย่อยที่ดำเนินการโดยคนในชุมชน อาทิ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุนหมู่บ้าน ศูนย์สาธิตการตลาด

TICA ได้จัดทำแบบประเมินความพึงพอใจให้ผู้เข้าร่วม โดยแบ่งการประเมินออกเป็น ๒ ส่วน ดังนี้

๑. การประเมินความพึงพอใจผ่านการให้คะแนน สรุปผลการประเมิน 16 ราย พบว่า ร้อยละ 83 พึงพอใจการเข้าร่วมฝึกอบรมหลักสูตรดังกล่าว เนื่องจากหัวข้อและเนื้อหาการอบรมสามารถนำไปใช้ได้จริงกับอาชีพของตน วิทยากรนำเสนอเนื้อหาได้ครบถ้วน ทั้งประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จจากการปรับใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือแม้กระทั่งปัญหาที่พบในระหว่างการปรับใช้

๒. การแสดงความคิดเห็นในการเข้าอบรมหลักสูตร ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมแบ่งปันความเห็นเกี่ยวกับแนวทางที่จะนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ กับประเทศของตน โดยเห็นว่า สามารถนำไปใช้กับโครงการเสริมสร้างพลังชุมชนได้หลากหลายด้าน อาทิ ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านเทคโนโลยี เนื่องจากประเทศของตนมีวิธีการและหลักการพัฒนาชุมชน รวมถึงการพัฒนาทางการเกษตรที่คล้ายคลึงกัน และเห็นถึงความเป็นไปได้ในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศของตนในอนาคต โดยเสนอแนวคิดเกี่ยวกับความร่วมมือกับองค์กรที่ตนปฏิบัติงานอยู่ ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้วิชาการด้านอื่น ๆ ที่จะสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกเหนือจากด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ที่จะสามารถขับเคลื่อนการเกษตรที่ยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ