รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศเข้าร่วมการประชุม 2023 Development Leaders Conference

รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศเข้าร่วมการประชุม 2023 Development Leaders Conference

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 พ.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 พ.ย. 2566

| 636 view

นางอรุณี ไฮม์ม รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนอธิบดี เข้าร่วมการประชุม 2023 Development Leaders Conference ระหว่างวันที่ ๒๔ - ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๖ ณ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ จัดโดยศูนย์เพื่อการพัฒนาระดับโลก (Center for Global Development: CGD) กระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของนอร์เวย์ (Norwegian Agency for Development Cooperation: Norad)

รองอธิบดีกรมความร่วมมือฯ ได้เข้าร่วมอภิปรายในหัวข้อ “Overcoming the barriers to more effective collaboration between different development cooperation providers” ตามคำเชิญของผู้จัดการประชุมฯ โดยได้แลกเปลี่ยนการดำเนินงานความร่วมมือหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของไทยที่มีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน  โดยได้นำเสนอปัจจัยสำคัญ  4  ประการที่ทำให้กรมความร่วมมือฯ ได้รับการยอมรับ และความไว้ใจทั้งกับประเทศคู่ร่วมมือ  และประเทศผู้รับในการดำเนินงานความร่วมมือหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ได้แก่

(1)  มีลำดับความสำคัญในการดำเนินการที่มุ่งเน้นความมั่นคงใน  4  ด้าน คือ ความมั่นคงทางอาหาร สาธารณสุข อาชีพการงาน และพลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ และพร้อมที่จะแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสาธารณสุข เกษตร สิ่งแวดล้อม การศึกษา และการพัฒนาชุมชนยั่งยืน

(2) มีการดำเนินงานทั้งกับประเทศผู้ให้เดิมและประเทศกำลังพัฒนา ภายใต้ธีมการดำเนินงาน “With Thailand, in Thailand and  for Thailand” เพื่อส่งเสริมบทบาทไทยในเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศในการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2030 พร้อมยกตัวอย่างคู่ร่วมมือที่สำคัญ อาทิ UN agencies, USAID, JICA, GIZ, KOICA and the countries of Luxemburg, Switzerland, Australia, Turkey, Colombia, Peru, Argentina, และ Morocco

(3) มีการพัฒนาการดำเนินงานความร่วมมือหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การขยายความร่วมมือไตรภาคีกับคู่ร่วมมืออย่างต่อเนื่อง การพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผล โดยยึดหลักการประเมินผล 5 ประการของ OECD รวมถึงการริเริ่มการนำการติดตามผลแบบใหม่ มาใช้เพื่อการประเมินผลเป็นมูลค่า คือ Social Return On Investment (SROI) evaluation เพื่อให้รัฐบาลคู่ร่วมมือเห็นความคุ้มค่าของการดำเนินงานโครงการความช่วยเหลือให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน 

(4) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนบนหลักการ “Public Private Partnership for People”และขณะนี้ยังได้ร่วมกับ OECD พัฒนาปรับปรุงฐานข้อมูล ODA ของไทย เพื่อให้เป็นมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความเชื่อถือได้ และตรวจสอบได้ของการดำเนินงานของไทย

ทั้งนี้ได้หยิบยกอุปสรรคที่ทำให้การดำเนินงานหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาล่าช้า เนื่องจากแต่ละองค์กรมีหลักในการจัดสรรงบประมาณที่แตกต่างกัน ทำให้ต้องใช้เวลาในการหาข้อตกลงร่วมกันและได้ย้ำว่าการดำเนินงานของกรมความร่วมมือฯ มีความโปร่งใส เชื่อถือได้ โดยกรมความร่วมมือฯ ได้รับการทาบทามและอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานคู่ร่วมมืออีกหลายแห่งในการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา โดยความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่หน่วยงานผู้ให้ต่าง ๆในที่ประชุมหยิบยกว่าเป็นปัจจัยสำคัญของการตกลงร่วมกันในการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา

การประชุมดังกล่าวเป็นเวทีระหว่างประเทศที่สำคัญ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเสริมสร้างระบบความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและมีนวัตกรรม การจัดการกับอุปสรรคต่าง ๆ ในปัจจุบันเพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ และการเพิ่มประสิทธิภาพของเงินทุนเพื่อการพัฒนา โดยมีผู้แทนระดับหัวหน้าหน่วยงาน ผู้นำ/ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านการพัฒนาเข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและความเห็นเกี่ยวกับข้อท้าทายที่มีร่วมกัน เพื่อค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาและแสวงหาโอกาสในการดำเนินงานความร่วมมือพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับโลกร่วมกันในอนาคตต่อไป

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ