วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ก.พ. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
ข้อมูลความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาที่ญี่ปุ่นให้ไทย
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ – ปัจจุบัน
ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance: ODA)
ญี่ปุ่นได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกแผนโคลัมโบ (Colombo Plan) เมื่อปี ๒๔๙๗ (๑๙๕๔) โดยเริ่มต้นให้ทุนฝึกอบรมแก่ประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ซึ่งเป็นสมาชิกแผนโคลัมโบ และได้จัดตั้งหน่วยงานบริหารความร่วมมือระหว่างประเทศชื่อ Overseas Technical Cooperation Agency (OTCA) ต่อมาเปลี่ยนเป็น Japan International Cooperation Agency (JICA) สังกัดภายใต้กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น โดยได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance – ODA) บนพื้นฐานของความต้องการที่จะแก้ไขปัญหารวมของโลก เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม โรคเอดส์ ยาเสพติด การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน
สำหรับประเทศไทย ญี่ปุ่นได้เริ่มให้ความช่วยเหลือทางวิชาการมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ โดยเริ่มต้นจากการให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมโทรคมนาคม (รมว.ศึกษาธิการ และ ออท.ญี่ปุ่น/ปทท. ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือฯ เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๔๙๓) และการจัดตั้งสถาบันวิจัยไวรัสของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (รมว.สาธารณสุข และ ออท.ญี่ปุ่น/ปทท. ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือฯ เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๔๙๔)
ภายหลังจากที่ญี่ปุ่นได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกแผนโคลัมโบในปี ๒๔๙๗ (๑๙๕๔) ญี่ปุ่นได้เริ่มต้นให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) แก่ประเทศไทย โดยให้ทุนแก่เจ้าหน้าที่ของไทยเดินทางไปอบรมที่ประเทศญี่ปุ่น จำนวน ๒๑ คน ญี่ปุ่นได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการกับรัฐบาลไทย (Agreement on Technical Cooperation between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of Japan) เมื่อวันที่ ๕ พ.ย. ๒๕๒๔ (๑๙๘๑)
พัฒนาการความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น
ในช่วงแรกของการดำเนินงานความร่วมมือ ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น ในรูปของเงินกู้ (Soft Loan) และความช่วยเหลือแบบให้เปล่า (Grant Aid) โดยเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นอกจากนั้น ได้รับความร่วมมือทางวิชาการ (Technical Cooperation) ในระดับทวิภาคีในสาขา ต่าง ๆ โดยเฉพาะการเกษตร การศึกษา และสาธารณสุข จนทำให้ประเทศไทยมีระดับการพัฒนาที่สูงขึ้น และมีศักยภาพที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ทั้งนี้ หลังจากประเทศไทย ยกฐานะ ขึ้นเป็น Upper Middle Income Country ญี่ปุ่นได้ปรับเปลี่ยนความร่วมมือกับไทยแบบทวิภาคีไปเน้นการสนับสนุนโครงการที่เป็นภูมิภาครวมถึงในกรอบอาเซียน (IAI) ในลักษณะ Sectoral/Programme Approach ภายใต้ ๕ สาขาที่สำคัญ ได้แก่ (๑) การพัฒนาชนบท (๒) การพัฒนาสังคม (๓) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทางเศรษฐกิจ (๔) การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และ (๕) ความร่วมมือในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะกรอบอาเซียน
ในส่วนของไทย ได้มีการปรับบทบาทจากประเทศผู้รับมาเป็นการสร้างหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Development Partnership) กับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ จึงทำให้ความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในระยะหลังมุ่งเน้นความร่วมมือที่เป็น Triangular Cooperation เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่สามมากขึ้น
สามารถติดตามพัฒนาความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย – ญี่ปุ่น ได้จากรายการ TICA พัฒนาทั่วโลก ตอน
“ Japan-Thailand Partnership Programme - JTPP จาก JTPP 1 สู่ JTPP 3” ขอขอบคุณข้อมูลจาก น.ส ชิดชนก มาลยะวงศ์ นักวิเทศสหการชำนาญการพิเศษ
รูปแบบความร่วมมือกับญี่ปุ่น แบ่งเป็น
๑. ความร่วมมือทางวิชาการ (Technical Cooperation) ได้แก่
๑.๑ ความร่วมมือทวิภาคี (Bilateral Cooperation)
รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศไทยในด้านต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสถาบันวิชาการ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม การพัฒนาเพื่อสังคมที่ยั่งยืนการจัดการภัยพิบัติ และการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
การดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือทวิภาคี ประกอบด้วย
๑.๑.๑ โครงการความร่วมมือทางวิชาการ (Technical Cooperation Project : TCP) ประมาณ ๑๕-๒๐ โครงการ กิจกรรมภายใต้โครงการประกอบด้วย (๑) การจัดหลักสูตรฝึกอบรมในประเทศไทย (In-country Training) (๒) การให้ทุนฝึกอบรม (Country-focused Training) ณ ประเทศญี่ปุ่น สำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานสมทบภายใต้โครงการปีละประมาณ ๑๐๐ ทุน (๓) การส่งผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นระยะสั้นและระยะยาวมาปฏิบัติงานภายใต้โครงการในไทย ประมาณ ๒๐ คนต่อปี และ (๔) การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ภายใต้โครงการ
๑.๑.๒ โครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการวางแผนพัฒนา (Technical Cooperation for Development Planning : TCDP) จำนวน ๑ โครงการ
๑.๑.๓ โครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการวิจัยด้าน Science and Technology Cooperation of Global Issues ภายใต้ Science and Technology Research Partnership for Sustainable Development (SATREPS) โดยสนับสนุนการทำวิจัยร่วมระหว่างหน่วยงาน/มหาวิทยาลัย ของไทย กับ ญป. ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขณะนี้มีโครงการ on-going รวม ๘ โครงการ ในสาขาต่าง ๆ เช่น พลังงานชีวภาพ การวิจัยวัณโรค การปราบศัตรูพืช การเพาะเลี้ยงปลา Smart Transport (Thailand 4.0) การกำจัดขยะพลาสติกในทะเล และการผลิตอาหารปลอดภัย เป็นต้น
๑.๑.๔ ผู้เชี่ยวชาญประเภทนอกโครงการ (Individual Expert : IR) ปฏิบัติงานเฉพาะสาขา ๕ คนต่อปี
๑.๑.๕ การส่งอาสาสมัครญี่ปุ่นมาปฏิบัติงาน ณ หน่วยงานไทยและสถาบันการศึกษาของไทย ได้แก่ (๑) Japan Overseas Cooperation Volunteers (JOCV) และ (๒) Senior Volunteer (SV) ระยะเวลา ๑-๒ ปี โดยมี JOCV ตั้งแต่แรกเริ่มปี ๒๕๒๔ (๑๙๘๑) จนถึงปัจจุบันประมาณ ๗๐๐ คน และมี SV เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ (๑๙๙๗) จนถึงขณะนี้ประมาณ ๒๕๐ คน ซึ่งปัจจุบันมีอาสาสมัครมาปฏิบัติงานประมาณปีละ ๒๕ คน รวม ๑๑ สาขา ได้แก่ การดูแลผู้พิการ การดูแลผู้สูงวัย การศึกษา การป้องกันการค้ามนุษย์ อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี การฝึกวิชาชีพ การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเมือง สิ่งแวดล้อมระดับท้องถิ่น การพัฒนาชุมชน การสอนภาษาญี่ปุ่น และสอนวิทยาศาสตร์
๑.๑.๖ ทุนฝึกอบรม/ดูงานหลักสูตรนานาชาติ ณ ญี่ปุ่น ในลักษณะที่มีผู้เข้ารับการอบรม หลายประเทศรวมกัน (Group and Region-focused Training Courses) ปัจจุบัน ปีละ ๕๐ ทุน
๑.๒ ความร่วมมือไตรภาคี (Trilateral Cooperation)
ไทยและญี่ปุ่นได้ลงนามกรอบความร่วมมือแบบหุ้นส่วนไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Partnership Programme - JTPP) เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๓๗ (๑๙๙๔) วัตถุประสงค์เพื่อร่วมสนับสนุนการถ่ายทอดประสบการณ์ ด้านการพัฒนาที่เหมาะสมให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศในอนุภูมิภาค ลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป้าหมายของความตกลงดังกล่าว ได้แก่ การจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้แก่ประเทศที่สาม (Third Country Training Programme : TCTP) จำนวน ๑๕ หลักสูตร ภายใน ๕ ปี (๒๕๓๘ – ๒๕๔๓) และการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญไทยไปปฏิบัติงานในประเทศที่สาม การดำเนินโครงการภายใต้กรอบ JTPP I ได้ผลบรรลุเกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยได้มีการจัดหลักสูตรฝึกอบรมถึง ๒๒ หลักสูตร และจัดส่งผู้เชี่ยวชาญไทยไปปฏิบัติงานถึง ๗๑ คน ต่อมา ในวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๖ (๒๐๐๓) ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามกรอบความร่วมมือ JTPP II และเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๔๖
ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายได้ลงนามกรอบความร่วมมือ JTPP III เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาให้แก่ประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียนและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อส่งเสริมการรวมตัวของประชาคมอาเซียน แนวคิดเรื่องอินโด-แปซิฟิก ความร่วมมือแม่โขง–ญี่ปุ่นตามกรอบยุทธศาสตร์โตเกียว พ.ศ. ๒๕๖๑ และแผนแม่บทความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
อิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) พ.ศ. ๒๕๖๒ – ๒๕๖๖ รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ กิจกรรมจะประกอบด้วยการร่วมกันจัดหลักสูตรฝึกอบรมการดำเนินโครงการพัฒนา การจัดส่งผู้เชี่ยวชาญ การทำวิจัย และการสนับสนุนทางการเงินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแก่ประเทศที่สาม ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่าย โดยยึดหลักความเท่าเทียมกัน และมีกลไกการประชุมประจำปี ระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) กับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency -JICA) เป็นกลไกหลักการดำเนินงาน
ภายใต้ JTPP ที่ผ่านมา รูปแบบความร่วมมือ ประกอบด้วย
๑.๒.๑ การจัดหลักสูตรฝึกอบรมแก่ประเทศที่สามในประเทศไทย (Third Country Training Programme : TCTP) ให้แก่ผู้รับทุนจากประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน และ CLMV (เน้นการส่งเสริมประชาคมอาเซียน) ปีละ ๕-๑๐ หลักสูตร ปัจจุบัน (ปี ๒๕๖๒) มี ๔ หลักสูตร ในสาขาการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน การผลิตอุตสาหกรรม การพัฒนาผู้พิการ และการพัฒนาเส้นทางคมนาคมอาเซียน-BIMSTEC
๑.๒.๒ การจัดส่งผู้เชี่ยวชาญไทยไปปฏิบัติงานในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ (Third Country Expert Programme : TCEP) ปัจจุบันการส่งผู้เชี่ยวชาญไทยไปปฏิบัติงานมีเฉพาะภายใต้โครงการไตรภาคี
๑.๒.๓ ความร่วมมือไตรภาคีไทย-ญี่ปุ่น-แอฟริกา ประกอบด้วย
๑.๒.๓.๑ โครงการด้านการเพาะเลี้ยงปลานิลให้แก่ซูดาน
(๑) การพัฒนาบุคลากรให้แก่ศูนย์ Fishery and Aquaculture Research Centre เขตคาร์ทูม ซูดาน โดยการจัดศึกษาดูงานระดับนโยบายร่วมกับการฝึกอบรมระดับปฏิบัติด้านการเพาะเลี้ยงปลานิลในประเทศไทย เมื่อเดือนมกราคม/กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ (๑๒ วัน) และจัดหาอุปกรณ์ (แหอวน) ให้แก่ Pilot Farm ที่จะจัดตั้งขึ้นที่ซูดาน รวมทั้งการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากกรมประมงไปจัด workshop/ฝึกอบรมด้าน Genetic Improvement ให้แก่เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ที่ซูดาน เมื่อเดือนมีนาคม/เมษายน ๒๕๕๗ (๑๕ วัน)
(๒) ไทยและญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดฝึกอบรมด้านการเพาะเลี้ยงปลานิลและปลาดุก (Hatchery Practice & Genetic Improvement) ให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติจากซูดาน (ระยะเวลา ๓ เดือน) ที่ประเทศไทย และการจัดทำโครงการหมู่บ้านตัวอย่างเพื่อเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและการเกษตรแบบผสมผสานในพื้นที่ที่เป็นแนวระบบชลประทานในซูดาน
๑.๒.๓.๒ โครงการด้านการเพิ่มผลผลิตข้าวให้แก่กลุ่มประเทศสมาชิก Coalition for
African Rice Development (CARD)
(๑) ไทยและญี่ปุ่นได้สนับสนุนศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วิทยาเขตกำแพงแสน) ในการจัดหลักสูตรฝึกอบรมภายใต้โครงการด้านการเพิ่มผลผลิตข้าวเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงด้านอาหารและบรรเทาความยากจนให้แก่กลุ่มประเทศสมาชิก Coalition for African Rice Development (CARD) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในการประชุม Tokyo International Conference on African Development (TICAD) ครั้งที่ ๔ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๑ ที่เมืองโยโกฮาม่า และที่ผ่านมา ได้มีการจัดฝึกอบรม Third Country Training Program (TCTP) ในประเทศไทยให้แก่กลุ่มประเทศเป็นสมาชิก CARD ประกอบด้วย (๑) ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ (Anglophone) รวม ๑๑ ประเทศ ได้แก่ Ethiopia, Gambia, Ghana, Kenya, Liberia, Nigeria, Sierra Leone, Tanzania, Uganda, Zambia, Mozambique และ (๒) ประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส (Francophone) รวม ๑๒ ประเทศ ได้แก่ Benin, Burkina Faso, Cameroon, Central African Republic (CAR), Cote d’Ivore, Democratic Republic of Congo (DRC), Guinea, Madagascar, Mali, Rwanda, Senegal, Togo เป็นเวลา ๔ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ – ๒๕๖๐ รวมทั้งสิ้น ๗ หลักสูตร ประกอบด้วย
(๑.๑) จัดศึกษาดูงานระดับ Policy Maker ร่วมกับฝึกอบรม Training of
Trainer ระดับ Technician ด้าน Mechanization รวม ๔ หลักสูตรให้แก่
๑) กลุ่มประเทศ Francophone จำนวน ๒ หลักสูตร รวม ๙ ประเทศ
(Benin, Burkina Faso, Cote d’Ivore (CDI), Democratic Republic of Congo (DRC), Guinea, Madagascar, Mali, Senegal และ Togo รวมทั้งสิ้น ๔๑ คน) ในปี ๒๕๕๗ (เดือนมิถุนายน/กรกฎาคม) และปี ๒๕๕๘ (เดือนพฤศจิกายน/ธันวาคม)
๒) กลุ่มประเทศ Anglophone จำนวน ๒ หลักสูตร รวม ๑๐ ประเทศ
(Ethiopia, Gambia, Ghana, Kenya, Liberia, Mozambique, Nigeria, Tanzania, Uganda, และ Zambia รวมทั้งสิ้น ๔๑ คน) ในปี ๒๕๕๘ (เดือนกุมภาพันธ์/มีนาคม) และปี ๒๕๕๙ (เดือนพฤศจิกายน/ธันวาคม)
(๑.๒) จัดศึกษาดูงานร่วมกับฝึกอบรม ด้าน Rice Production ให้แก่กลุ่ม
ประเทศ Francophone รวม ๓ หลักสูตร ระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๖๐ (เดือนมิถุนายน/สิงหาคม) รวม ๗๐ คน จาก ๙ ประเทศ (Benin, Burkina Faso, Cameroon, CDI, DRC, Guinea, Madagascar, Mali และ Togo)
(๒) จัดส่งคณะ TICA/JICA Joint Follow-up Mission ไปติดตามประเมินผลผู้ที่เคยเข้าร่วมหลักสูตรจากทั้ง ๒ กลุ่มประเทศแล้ว ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๒๑ – ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ (รวมวันเดินทาง) ณ Togo และ Cote d’Ivore และครั้งที่ ๒ ช่วงที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๑๖ - ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ (รวมวันเดินทาง) ณ DRC และ Madagascar และช่วงที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑ - ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๐ (รวมวันเดินทาง) ณ Kenya Uganda และ Ethiopia โดยมีกำหนดจะไปติดตามประเมินผลอีก ๑ ครั้ง ในปี ๒๕๖๑
(๓) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดส่งข้อเสนอขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น (ร่วมกับรัฐบาลไทย) ประจำปีงบประมาณญี่ปุ่น ๒๐๒๐ (พ.ศ. ๒๕๖๓) เพื่อจัดฝึกอบรมอีก ๓ ปี (กรมฯ ได้รวบรวมและจัดส่งข้อเสนอทั้งหมดสำหรับปี ๒๐๒๐ จากหน่วยงานไทยให้รัฐบาลญี่ปุ่นพิจารณาแล้ว)
๑.๒.๓.๓ โครงการ Joint Technical Cooperation Project for Africa on the Promotion of Sustainable Development Approach based on Sufficiency Economy Philosophy (JOISEP)
เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๐ กรมฯ และ JICA ได้ร่วมลงนามใน Partnership Arrangement (PA) ณ วิเทศสโมสร กระทรวงฯ เพื่อเป็นกรอบแนวทางความร่วมมือหุ้นส่วนให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ รวมทั้งแอฟริกา และสนองตอบประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น การบรรลุเป้าหมาย SDGs ผลการประชุม TICAD ครั้งที่ ๖ ในปี ๒๕๕๙ และการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของไทยไปประยุกต์ใช้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะร่วมกันดำเนินโครงการ JOISEP และคัดเลือกเซเนกัลที่มีความสนใจต่อโครงการ Sustainable Community Development Model based on the Application of SEP ของไทยเป็นพื้นที่โครงการ โดยได้ร่วมกันจัดส่งคณะพร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปสำรวจพื้นที่ ๒ แห่ง คือ เมือง Thippe และ Lampoul (ตามที่ฝ่ายเซเนกัลเสนอมา) ระหว่างวันที่ ๒๕ พฤษภาคม-๑ มิถุนายน ๒๕๖๒ (รวมวันเดินทาง) ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้จัดส่งร่าง Concept Paper รายละเอียดโครงการให้ JICA พิจารณาแล้ว
๑.๒.๔ ความร่วมมือไตรภาคีไทย-ญี่ปุ่น-เมียนมา
๑.๒.๔.๑ ไทยและญี่ปุ่นได้ตกลงที่จะร่วมกันให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมาเป็นเวลา ๓ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๕๗/๒๕๕๘ – ๒๕๕๙/๒๕๖๐ ใน ๔ สาขา และที่ผ่านมาได้ดำเนินกิจกรรมเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนี้
(๑) สาขา Tourism Promotion – เน้นการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวที่เมืองพุกาม โดยจัดฝึกอบรมในประเทศไทยตามความต้องการของเมียนมา ด้าน hotel management ได้แก่
(๑.๑) จัดฝึกอบรมที่วิทยาลัยดุสิตธานี จำนวน ๔ หลักสูตร ได้แก่
๑) หลักสูตรระดับพื้นฐาน ๒ หลักสูตร คือ Front Office Operation ระหว่างวันที่ ๒๘ กันยายน – ๒ ตุลาคม ๒๕๕๘ (๑๐ คน) และ Restaurant Service ระหว่างวันที่ ๕ – ๙ ตุลาคม ๒๕๕๘ (๙ คน)
๒) หลักสูตรระดับ Manager ๒ หลักสูตร ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๙ คือ Front Office Management for Hotels and Resorts (๑๐ ราย) และ Restaurant Management (๙ ราย)
(๑.๒) จัดศึกษาดูงานด้าน Tourism Promotion for Sustainable Development ให้แก่เจ้าหน้าที่เมียนมาและเจ้าของธุรกิจโรงแรมในพุกาม รวม ๑๕ คน ระหว่างวันที่ ๒๗ สิงหาคม – ๒ กันยายน ๒๕๖๐ ณ จังหวัดสุโขทัย
(๒) สาขา Foot and Mouth Disease (FMD) – จะจัดทำโครงการจัดตั้ง FMD Free Zone ในพื้นที่ชายแดนระหว่างไทย-เมียนมา โดยกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการไปแล้ว ดังนี้
(๒.๑) จัดศึกษาดูงานด้านการจัดตั้ง FMD Free Zone ในประเทศไทย ให้แก่เจ้าหน้าที่จาก Livestock Breeding and Veterinary Department, Ministry of Livestock, Fisheries and Rural Development (๕ คน) ระหว่างวันที่ ๒๙ มีนาคม - ๓ เมษายน ๒๕๕๘
(๒.๒) จัดฝึกอบรม/ศึกษาดูงานในประเทศไทย จำนวน ๒ หลักสูตร ได้แก่ ด้าน Animal Movement Control ระหว่างวันที่ ๑๔ – ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐ (๕ ราย) และด้าน FMD Laboratory Diagnosis (๕ ราย) ระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐
(๓) สาขา Disaster Prevention and Management – จัดฝึกอบรมในประเทศไทยตามคำขอของเมียนมา โดยเน้นเรื่องการป้องกันและบริหารจัดการอุทกภัย ได้แก่
(๓.๑) กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ
กรมชลประทานร่วมกันจัดฝึกอบรมหลักสูตร Hydrology (Advance Flood Forecasting, Flash Flood Forecasting, Remote Sensing and GIS Application in Hydrology) ให้แก่เจ้าหน้าที่จาก Department of Metrology and Hydrology รวม ๒ หลักสูตร ระหว่างวันที่ ๑๗ มกราคม – ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ (๕ คน) และระหว่างวันที่ ๓๑ ตุลาคม – ๑ ธันวาคม ๒๕๕๙ (๕ คน)
(๓.๒) กรมชลประทานจัดฝึกอบรมหลักสูตร Water Resources Management and Hydrology ให้แก่เจ้าหน้าที่เมียนมา รวม ๕ คน ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐
(๔) สาขา Aquaculture – จัดฝึกอบรมในประเทศไทยตามคำขอของเมียนมา จำนวน ๒ หลักสูตร ได้แก่ (๑) การเพาะเลี้ยงปลาเพื่อนำไปปรับใช้ในการเพาะเลี้ยงปลา Giant Butter Catfish (Silonia Silondia) (๒๐ คน) และ (๒) การเพาะเลี้ยงกุ้ง (Marine Shrimp Culture) (๒๐ คน) โดยกรมประมง ระหว่างวันที่ ๒๔ กันยายน – ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๐
๑.๒.๔.๒ ไทยและญี่ปุ่นได้ขยายความช่วยเหลือให้แก่เมียนมาออกไปอีก ๒ ปี จนถึง
ปี ๒๕๖๓ หลังจากความร่วมมือไตรภาคีระยะแรกมีกำหนดสิ้นสุด โดยลงนามร่วมกันเพื่อปรับแก้ไขข้อตกลง (Record of Discussion) เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๑ และจะดำเนินกิจกรรมแรกในปีงบประมาณญี่ปุ่น ๒๐๑๘ (ภายในเดือนมีนาคม ๒๕๖๒) คือ
สาขา Aquaculture ประกอบด้วย (๑) จัดส่งผู้เชี่ยวชาญกรมประมงไป
ประเมินผลการจัดหลักสูตรเมื่อปี ๒๕๖๐ ที่เมียนมา ระหว่างวันที่ ๑๔-๑๘ มกราคม ๒๕๖๒ และ (๒) จัดฝึกอบรม อีก ๒ หลักสูตร ในประเทศไทย ได้แก่ (๒.๑) การเพาะเลี้ยงกุ้ง (Marine Shrimp Culture) (๔ คน) ระหว่างวันที่ ๑๓ มกราคม – ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๒ และ (๒.๒) การเพาะเลี้ยงปลา Giant Butter Catfish (Silonia Silondia) (๑๐ คน) ระหว่างวันที่ ๓ - ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
๑.๒.๔.๓ ไทยและญี่ปุ่นจะร่วมกันจัดส่งคณะ ผชช. ไปประเมินผลกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้วทั้ง ๔ สาขาให้แก่เมียนมา และเสนอกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไปในช่วงขยายระยะเวลา
๑.๒.๕ ความร่วมมือไตรภาคีไทย-ญี่ปุ่น-ปาเลสไตน์
๑.๒.๕.๑ ประเทศไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับปาเลสไตน์เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๕ และสืบเนื่องจากการส่งคณะผู้แทนนำโดยรองปลัดวิชาวัฒน์ฯ เข้าร่วมประชุม Conference on Cooperation among East Asian Countries for Palestinian Development (CEAPAD) Ministerial Meeting ครั้งที่ ๑ ที่กรุงโตเกียว ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ และร่วมกับ JICA จัดการประชุม CEAPAD Aid Coordination Meeting ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๖ ซึ่งประเทศไทยได้ตกลงที่จะให้ ความร่วมมือไตรภาคีกับญี่ปุ่นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ปาเลสไตน์ในสาขาการท่องเที่ยว วิสาหกิจขนาดย่อม การพัฒนาทักษะวิชาชีพ และการจัดตั้งสหกรณ์การเกษตร รวมทั้งการเข้าร่วมประชุม CEAPAD Ministerial Meeting ครั้งที่ ๒ ที่กรุงจาการ์ตา ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๗ ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศจะร่วมมือไตรภาคีกับญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือปาเลสไตน์โดยเริ่มในสาขาการท่องเที่ยว กรมความร่วมมือระหว่างประเทศจึงได้ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาส่งคณะไปสำรวจสภาพแวดล้อมและความต้องการของปาเลสไตน์ ระหว่างวันที่ ๒๖ เมษายน – ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗ และเชิญคณะผู้แทนปาเลสไตน์นำโดย H.E. Dr. Hamdan Taha รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ Ministry of Tourism & Antiquities (MOTA) มาดูงานที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ ๑-๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๗
๑.๒.๕.๒ ไทยและญี่ปุ่นได้ตกลงที่จะร่วมกันจัดฝึกอบรมในประเทศไทยตามความ
ต้องการของปาเลสไตน์ เป็นเวลา ๓ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ - ๒๕๖๐ ซึ่งที่ผ่านมา ได้จัดอบรมโดยมีผู้เข้าร่วมจากภาครัฐ/เอกชน (ส่วนกลางและเมือง Jericho) และมหาวิทยาลัยของปาเลสไตน์ รวม ๓ หลักสูตร ได้แก่ ด้าน Regulation & Standardization โดยกรมการท่องเที่ยว ระหว่างวันที่ ๒๗ เมษายน – ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘ (๑๐ คน) และด้าน Hospitality โดยวิทยาลัยนานาชาติ (ภาควิชาบริหารอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว) มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างวันที่ ๑๓ – ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ (๑๐ คน) และจัดบรรยายด้าน Tourism Marketing โดยรองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผ่าน TV Conference ไปยังปาเลสไตน์ (มีผู้เข้าร่วมฟังบรรยาย ๑๘ คน) เมื่อวันที่ ๒๐ และ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ณ สำนักงาน JICA ประจำประเทศไทย
๑.๒.๕.๓ ปี ๒๕๖๑ ได้จัดการบรรยายด้าน Tourism Marketing เน้น Community Tourism โดยผู้แทนองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ผ่านระบบ TV Conference ไปยังปาเลสไตน์ เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๒ ณ สำนักงาน JICA ประจำประเทศไทย
๑.๒.๕.๔ ในการประชุม CEAPAD Ministerial Meeting ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๑ ที่กรุงเทพฯ ไทยได้ยืนยันที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่นในการต่อยอดความร่วมมือให้แก่ปาเลสไตน์ออกไปอีกเป็นระยะที่ ๒ เป็นเวลา ๓ ปี ระหว่างปี ๒๕๖๒ – ๒๕๖๔ ภายใต้กรอบ CEAPAD
๑.๒.๕.๕ ไทยและญี่ปุ่นจะร่วมกันจัดส่งคณะ ผชช. (Mekong Institute: MI) ไปประเมินผลกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้แก่ปาเลสไตน์ และเสนอกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไปในช่วงขยายระยะเวลา โดยคาดว่าน่าจะจัดส่ง ผชช. ได้ในช่วงกลางเดือน ม.ค. ๒๕๖๓
๒. ความช่วยเหลือให้เปล่า (Grant Aid) ได้แก่
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินในสาขาต่าง ๆ ในอดีตเป็นการสนับสนุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรวมทั้งอาคารสถานที่ และอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งสิ่งก่อสร้างการชลประทาน อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นได้ยุติการให้ความร่วมมือแบบให้เปล่าแก่ไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ (๑๙๙๓) เนื่องจากไทยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
๒.๑ ความช่วยเหลือให้เปล่าที่ไม่อยู่ในรูปโครงการ (Non–Project Grant Aid : NPGA)
รัฐบาลญี่ปุ่นได้กลับมาให้การสนับสนุนงบประมาณความช่วยเหลือให้เปล่าแก่ประเทศไทยอีกครั้ง
ในปีงบประมาณญี่ปุ่น ๒๐๐๙ (๒๕๕๒) ในลักษณะความช่วยเหลือให้เปล่าที่ไม่อยู่ในรูปโครงการ (Non – Project Grant Aid) เพื่อสนับสนุนการจัดซื้อจัดหาวัสดุอุปกรณ์ให้แก่หน่วยงานไทยต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาถึงปัจจุบันมีดังนี้
๒.๑.๑ ปี ๒๕๕๒ ด้าน Environment and Climate Change ภายใต้โครงการ Forest Preservation Programme ของกรมป่าไม้ ในวงเงิน ๙๐๐ ล้านเยน (หรือประมาณ ๓๐๓.๖๖ ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับการฟื้นฟูป่าไม้ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
๒.๑.๒ ปี ๒๕๕๘ ในวงเงิน ๑,๐๐๐ ล้านเยน (หรือประมาณ ๓๐๐ ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นด้าน Provision of Japanese SME’s Products จำนวน ๕๐๐ ล้านเยน และด้าน Provision of Japanese Next-Generation Vehicle จำนวน ๕๐๐ ล้านเยน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในของญี่ปุ่น และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยี การผลิตโดย SME ของญี่ปุ่น และการใช้รถยนต์ลดมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมและลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัติข้อเสนอจากหน่วยงานไทยที่สนใจ รวม ๑๕ ข้อเสนอ จาก ๖ หน่วยงาน (ในสังกัด ๕ กระทรวง)
ทั้งนี้ ได้มีการลงนามในความตกลงเพื่อรับความช่วยเหลือดังกล่าวระหว่างอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๙ ณ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และขณะนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นอยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้างยานยนต์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้แก่หน่วยงานไทย
๒.๑.๓ ปี ๒๕๖๐ ด้าน Economic and Social Development Program (Counterterrorism and public security) มูลค่า ๒๐๐ ล้านเยน (หรือประมาณ ๖๒ ล้านบาท) ให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อสนับสนุนรัฐบาลไทยในการต่อต้านการก่อการร้ายและสนับสนุนมาตรการด้านความมั่นคง โดยการจัดซื้อชุดเครื่องมือจดจำและตรวจสอบบุคคลเฝ้าระวังทางความมั่นคง (Standalone Facial Recognition System และ Central Facial Matching System) ตามคำขอของกองบัญชาการตำรวจสันติบาล (บชส.)
อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้ร่วมลงนามในความตกลงฯ เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
๒.๒ ความช่วยเหลือให้เปล่าในภาวะฉุกเฉิน (Emergency Grant Aid)
ในช่วงปลายปี ๒๕๕๔ ประเทศไทยประสบสภาวะวิกฤตจากเหตุการณ์มหาอุทกภัย รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้ให้ความช่วยเหลือให้เปล่าในด้านการจัดการแก้ไขและป้องกันอุทกภัยภายใต้ความร่วมมือต่าง ๆ ดังนี้
๒.๒.๑ Programme Concerning the Mitigation and Relief Efforts to Restore Loss from the Recent Flood Disaster in the Kingdom of Thailand ซึ่งเป็น Emergency Grant Aid ในวงเงินมูลค่า ๑,๐๐๐ ล้านเยน โดยมีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นหน่วยงานรับความช่วยเหลือ (เมื่อดำเนินการแล้วใช้เงินไปเพียง ๒๐๐ ล้านเยน แต่เนื่องจากวัตถุประสงค์เดิมคือ การให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน/ความเสียหายอย่างเร่งด่วน ดังนั้น สอท. ญี่ปุ่น จึงขอให้ฝ่ายไทยส่งคืนเงิน ๘๐๐ ล้านเยนก่อน พร้อมทั้งขอให้ฝ่ายไทยพิจารณาจัดทำข้อเสนอขอรับความช่วยเหลือจำนวน ๘๐๐ ล้านเยนดังกล่าว ในรูปแบบ Non-Project Grant Aid ซึ่งต่อมา ปภ. ได้จัดทำข้อเสนอขอรับความช่วยเหลือรูปแบบดังกล่าว ผ่าน สพร. ตามข้อเสนอของ สอท.ญี่ปุ่น (สอท. ญี่ปุ่นเป็น Focal Point)
๒.๒.๒ Non-Project Grant Aid (NPGA) for Contributing to Promotion of the Economic and Social Development Efforts by the Kingdom of Thailand สำหรับการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในอนาคต (สืบเนื่องจากข้อ ๑) ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จำนวน ๘๐๐ ล้านเยน หรือประมาณ ๒๐๐ ล้านบาท (สอท. ญี่ปุ่นเป็น Focal Point)
๒.๒.๓ Project for Comprehensive Flood Management Plan for the Chao Phraya River Basin) ของกรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๕๕ – ธันวาคม ๒๕๕๖ ประกอบด้วย ๒ โครงการย่อย (JICA เป็น Focal Point) ได้แก่
๒.๒.๓.๑ Project for Prevention of East side of the Pasak River in Ayutthaya ของกรมชลประทาน มูลค่า ๒,๕๕๐ ล้านเยน หรือประมาณ ๘๘๓ ล้านบาท เพื่อสร้างประตูระบายน้ำที่ จ.อยุธยา
๒.๒.๓.๒ Project for the Rehabilitation of the Outer Bangkok Ring Road (East Portion) ของกรมทางหลวง มูลค่า ๕,๔๘๐ ล้านเยน (ประมาณ ๑,๙๐๐ ล้านบาท) เพื่อฟื้นฟูถนนวงแหวนรอบนอก
๒.๓ ความช่วยเหลือให้เปล่าเพื่อการพัฒนาขั้นพื้นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ (Grant Assistance for Grassroots Human Security Projects : GGP)
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตกลงให้ความช่วยเหลือให้เปล่าในโครงการขนาดย่อม (Small-scale Grant Assistance) โดยสนับสนุนให้องค์กรขนาดย่อมของไทย เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่น และสถาบันที่ดำเนินงานค้นคว้าวิจัยทางสาธารณสุข ดำเนินโครงการขนาดย่อมในชุมชนของไทย ได้แก่ การก่อสร้าง/ปรับปรุงอาคาร (เช่น โรงเรียน ศูนย์อนามัย) การจัดซื้อยานพาหนะ/วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น (เช่น รถพยาบาล รถดับเพลิง อุปกรณ์ทางการแพทย์) การฝึกอบรมวิชาชีพให้แก่ผู้ด้อย โอกาส (เช่น ผู้พิการ ผู้ยากไร้) การจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชน การใช้พลังงานทดแทน และงานสังคมสงเคราะห์อื่น ๆ เป็นต้น โดยได้มีการจัดทำ Note Verbale ระหว่าง สอท. ญี่ปุ่น และกรมวิเทศสหการ ลงวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๓๓ และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ความช่วยเหลือให้เปล่าเพื่อการพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ในระดับรากหญ้า (Grant Assistance for Grassroots Human Security Project: GGP) โดยแต่ละโครงการจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณในวงเงินประมาณ ๑๐ ล้านเยน หรือประมาณ ๓ ล้านบาท ต่อโครงการ สำหรับปีงบประมาณญี่ปุ่น ๒๐๑๙ มีโครงการ GGP ที่ได้รับการอนุมัติ ๑๗ โครงการ (สอท. ญี่ปุ่น เป็น focal point)
-----------------------------------------------------
ภารกิจความร่วมมือหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา
กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓