“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” หรือ Sufficiency Economy Philosophy (SEP) เป็นแนวทางที่สามารถนำไปใช้ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการดำรงชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ รวมไปถึงการดูแลครอบครัวและการสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนที่เราอยู่อาศัย
ในเวทีระหว่างประเทศ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีความเป็นสากลและเป็นสิ่งที่สามารถนําไปปฏิบัติได้จริงเพื่อนําไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ข้อความนี้ระบุอยู่ในปฏิญญาของรัฐมนตรี กลุ่ม 77 ที่ได้มีการรับรองในการประชุมเมื่อเดือนกันยายน 2559 ในการประชุมครั้งนั้น ประเทศไทยในฐานะประธานกลุ่ม 77 ได้น้อมนําปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้เป็นหนึ่งแนวทางสำหรับการพัฒนาเพื่อสนับสนุนการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ภายใต้นโยบายที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า “Sufficiency Economy Philosophy for Sustainable Development Goals Partnership” หรือสั้น ๆ ว่า “SEP for SDGs Partnership”
การนำใช้ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในฐานะที่เป็นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องมีการเผยแพร่ให้คนต่างชาติได้รู้จักและเข้าใจเสียก่อน กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ Thailand International Cooperation Agency ที่เรารู้จักกันว่า “TICA” (ไทก้า) มีภารกิจที่สำคัญในการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงใช้ได้จริงในต่างประเทศ โดยได้ดำเนินงานเหล่านี้มาตั้งแต่ปี 2546 ผ่านกิจกรรม 5 รูปแบบ ดังนี้
(๑) หลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติ (Annual International Training Course – AITC) โดยให้ทุนฝึกอบรมระยะสั้น หัวข้อที่เกี่ยวกับ SEP แก่บุคลากรของหน่วยงานต่างประเทศ ซึ่งมีการบรรยายสรุปและการศึกษาดูงานที่เกี่ยวข้องในไทยประมาณ 2 สัปดาห์ โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย เช่น กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร สถาบันการศึกษาของไทย ดำเนินกิจกรรม ตั้งแต่ปี 2549 โดยมีบางหลักสูตรที่ให้ความสำคัญลำดับต้นกับผู้สมัครจากประเทศสมาชิกของกรอบความร่วมมือในภูมิภาค เช่น ACMECS ASEAN ACD CICA FEALAC เช่น หลักสูตร Sufficiency Economy Philosophy towards a Sustainable Development จัดโดยมหาวิทยาลัยบูรพา หลักสูตร Sufficiency Economy Practices in Community-based and Economic Development จัดโดยกรมการพัฒนาชุมชน มีผู้แทนมากกว่า ๑,๐๐๐ ราย จาก ๙๒ ประเทศเข้าร่วม
(๒) หลักสูตรบัณฑิตศึกษานานาชาติ (Thai International Postgraduate Programme – TIPP) โดยให้ทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโท ระยะ 2 ปี แก่บุคลากรของหน่วยงานต่างประเทศ ในหลักสูตรที่เกี่ยวกับ SEP ที่สถาบันการศึกษาของไทย ดำเนินกิจกรรมตั้งแต่ปี 2553 ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เช่น หลักสูตร Master of Arts in Social Science (Development Studies) ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลักสูตร Master of Science in Sustainable Land Use and Natural Resources Management มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีผู้แทนมากกว่า ๖๐ ราย จาก ๒๒ ประเทศเข้าร่วม
(๓) โครงการบัวแก้วสัมพันธ์ โดยเชิญผู้แทนต่างประเทศศึกษาดูงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการที่นำ SEP มาประยุกต์ใช้ในสาขาต่าง ๆ ในไทย ประมาณ 3-5 วัน เริ่มดำเนินกิจกรรมนี้ตั้งแต่ปี 2546 มีผู้แทนมากกว่า ๕0๐ รายจาก 80 ประเทศเข้าร่วม
(๔) การดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาที่นำ SEP ไปประยุกต์ใช้ในต่างประเทศมีความสำเร็จและมีความคืบหน้าอย่างมาก ปัจจุบัน ประเทศไทยมีความร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนา 26 ประเทศ ที่สนใจร่วมมืออย่างจริงจังและได้นำแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาใน 2 รูปแบบ ได้แก่ (๑) การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ (๒) การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนต้นแบบตามแนวทางการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
(๕) การขยายเครือข่ายการเรียนรู้เกี่ยวกับ SEP ในรูปแบบการบรรยายการจัดนิทรรศการ การจัดทำรายงานการพัฒนาทรัพยารมนุษย์ของประเทศไทย (Human Development Report) โดยร่วมมือกับ UNDP การประกวดบทความในหัวข้อเกี่ยวกับ SEP กับการพัฒนาที่ยั่งยืนในกลุ่มอดีตผู้รับทุนของกรมความร่วมมือฯ การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการเผยแพร่ผ่านสื่อและสารคดี เป็นต้น