วันที่นำเข้าข้อมูล 20 เม.ย. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
การให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทยที่ดำเนินการผ่าน TICA
ประเทศไทยได้เริ่มมีบทบาทในการให้ความร่วมมือทางวิชาการแก่ต่างประเทศตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ ในลักษณะ Third Country Training Program คือ การให้ประเทศไทยจัดรายการศึกษาฝึกอบรมหรือดูงานในประเทศไทยให้ผู้รับทุนจากประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ที่องค์การต่างประเทศหรือประเทศผู้ให้อื่น ๆ เสนอขอความร่วมมือมา โดยรัฐบาลไทยออกค่าใช้จ่ายบางส่วนให้ ในปี ๒๕๐๔ ประเทศไทยเริ่มให้ความร่วมมือภายใต้แผนโคลัมโบโดยอนุมัติทุนรัฐบาลไทยให้แก่ผู้รับทุนจากประเทศสมาชิกมาศึกษา ฝึกบอรมหรือดูงานในประเทศไทย ต่อมาได้มีการขยายความร่วมมือในรูปการให้บริการผู้เชี่ยวชาญ วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องอุปโภคบริโภค
จากการที่ประเทศไทยมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวิชาการด้านต่าง ๆ สูงขึ้น ผนวกกับประสบการณ์ในการเป็นผู้รับความร่วมมือทางวิขาการมากว่า ๔๐ ปี ทำให้ประเทศไทยมีสมรรถนะพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้ประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่ายิ่งกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับแนวนโยบายด้านการต่างประเทศของรัฐบาลในสมัย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงปี ๒๕๓๒ – ๒๕๓๓ ที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอินโดจีน โดยมุ่งที่จะเปลี่ยนจากสนามรบเป็นสนามการค้า แรวมทั้งสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคสามารถพัฒนาตนเองและเสริมสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ทำให้ประเทศไทยมีแผนการให้ความร่วมมือกับต่างประเทศในช่วงเวลาดังกล่าวมากขึ้น
จุดเปลี่ยนแปลงสำคัญในการให้ความร่วมมือทางวิชาการของไทยเป็นรูปธรรมและขยายการดำเนินงานเพิ่มขึ้นในปี ๒๕๓๔ สมัยที่ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์ในทุกด้านกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงได้จัดสรรงบประมาณพิเศษให้เพื่อดำเนินงานด้านนี้เพิ่มเป็น ๒๐๐ ล้านบาท โดยสาขาการให้ความช่วยเหลือของไทย ส่วนใหญ่เป็นสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพ เช่น สาขาเกษตร ศึกษา และสาธารณสุข และเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสถาบันซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการพัฒนา และสนับสนุนการดำเนินความร่วมมือในรูปแบบโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแบบเต็มรูปแบบ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือในลักษณะไตรภาคี และความร่วมมือระหว่างสถาบันของไทยและต่างประเทศให้มากขึ้น
ปัจจุบัน นโยบายรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการดำเนินภารกิจความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ โดยกำหนดไว้ใน ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๘๐) ด้านความมั่นคง และต่างประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ ยุทธศาสตร์ที่ ๑๐ ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่างประเทศ ระยะ ๒๐ ปี ให้มีการดำเนินภารกิจความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศในทุกด้าน เพื่อส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ของประเทศไทยในการสนับสนุนการแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำในอนุภูมิภาคและในภูมิภาคและการขับเคลื่อนการพัฒนาภายใต้กรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งจะส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งประเทศอื่น ๆ และนำไปสู่การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศ การเมืองและความมั่นคง รวมถึงการเสริมสร้างความเข้าใจอันดี และการสร้างมิตรประเทศใหม่
รัฐบาลไทยมีนโยบายอย่างต่อเนื่องที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ให้เป็นมิติหนึ่งในการดำเนินงานนโยบายด้านการต่างประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ซึ่งสะท้อนได้จากช่วงที่ผ่านมากรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้รับงบประมาณสำหรับการบริหารงานให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง จาก ๓๐๘ ล้านบาท ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ และเพิ่มเป็น ๘๙๒ ล้านบาท ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒
ประเทศเป้าหมายหลักในการให้ความช่วยเหลือของไทยคือ กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคใกล้เคียงเป็นลำดับแรก เพื่อให้สอดรับกับนโยบายต่างประเทศของไทย “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ให้ประเทศเหล่านี้มี เศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีกำลังคนที่มีคุณภาพ และยืนบนขาตนเองได้ต่อไป เพื่อเป็นฐานการผลิต ตลาดสินค้า/การท่องเที่ยว/และบริการด้านต่างๆ ของไทย รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงแนวชายแดน ป้องกันปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และขยายโอกาสการค้าการลงทุนแนวชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเป้าหมายถัดไปคือประเทศในภูมิภาคอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทย ได้แก่ เอเชียใต้ แอฟริกา และละตินอเมริกา เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้าง “มิตรที่ดี” ของประเทศไทยให้มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเมืองในเวทีระหว่างประเทศและโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยในตลาดใหม่ ทั้งนี้ ในช่วงปี ๒๕๖๓ –๒๕๖๕ มีการจัดแผนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระยะ ๓ ปี กับประเทศเหล่านี้ ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา ภูฏาน ติมอร์-เลสเต เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงาน ติดตามและประเมินผล ที่ต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือในสาขาที่ไทยมีศักยภาพและมีโอกาสต่อยอดผลประโยชน์แก่ประเทศไทย กล่าวคือ สาขาการพัฒนาเศรษฐกิจ ได้แก่ ด้านการเกษตร วิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยว (Community-based Tourism) และการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และสาขาการพัฒนาสังคม ได้แก่ ด้านสาธารณสุข การพัฒนาการศึกษา เพื่อเป็นช่องทางการเสริมสร้างความมั่นคงในมิติต่างๆ ระดับประเทศและภูมิภาค เช่น การด้านการป้องกันและเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ชายแดน การพัฒนาระบบและการเฝ้าระวังปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาศูนย์แรกรับเหยื่อจากการค้ามนุษย์ และเป็นการต่อยอดไปสู่โอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น การพัฒนาระบบ กฏและระเบียบธุรกิจการค้าและโลจิสติกส์ การพัฒนาแหล่งวัตถุดิบทางการเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ การสร้างความเป็น regional hub ด้านการศึกษา การท่องเที่ยวและบริการสาธารณสุข ในระดับภูมิภาค อีกทั้งสร้างความเป็นเลิศของไทยในสาขาเหล่านี้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับการพัฒนาภายในประเทศต่อไป และพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาอย่างยืนในระดับภูมิภาคในระยะยาว
สำหรับการส่งเสริมแนวทางการพัฒนาที่ประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ได้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเสริมสร้างสถานะประเทศไทยในการเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือที่มีแนวทางการพัฒนาเป็นของตนเอง ที่สามารถเป็นทางเลือกสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีความสมดุลกับบริบทและสภาพภูมิสังคมในพื้นที่ โดยคงการใช้หลัก SEP เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาต่างๆ และมีแผนเชิงรุกในการส่งเสริมโครงการพัฒนาที่มีการประยุกต์ใช้ SEP โดยตรง ในรูปแบบการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ (SEP Learning Center) และการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน (SEP based sustainable community) รวมทั้งการให้ทุนฝึกอบรมและทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโทหลักสูตรด้านการพัฒนาบนหลัก SEP เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้และเข้าถึงถึงแนวทางการพัฒนา SEP ให้กว้างขวาง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เอเชียใต้ และภูมิภาคแอฟริกา
นอกจากนี้ ยังจะขยายรูปแบบการให้ความช่วยเหลือ จากที่มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในรูปทุนศึกษาและอบรม ไปสู่การดำเนินโครงการพัฒนา (project based) ในพื้นที่ประเทศผู้รับ ซึ่งมีองค์ประกอบครอบคลุมกิจกรรมทั้งด้านการพัฒนาถ่ายทอดองค์ความรู้ การจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือ และพัฒนาพื้นที่ รวมทั้งการส่งอาสาสมัครและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้โครงการมีความยั่งยืน และมีผลสัมฤทธิ์ที่มี impact ต่อการพัฒนามากขึ้น เป็นประโยชน์ในการสร้างโอกาสแก่ภาคเอกชนในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและใช้วัสดุอุปกรณ์จากไทย และเป็นโอกาสการพัฒนาเยาวชนไทยและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ
วิธีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือจากที่มุ่งเน้นในรูปแบบทวิภาคี ลักษณะ “ให้-รับ” ที่เป็นการดำเนินการโดยตรงโดยรัฐบาลไทยกับประเทศผู้รับ ไปสู่ความร่วมมือแบบ regional approach และหุ้นส่วนไตรภาคี (Trilateral/Triangular Cooperation) กับประเทศที่พัฒนาแล้วและองค์การระหว่างประเทศที่เคยเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือไทยมาก่อน และที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองกับไทย อันจะเป็นพัฒนาการที่สะท้อนการยอมรับสถานะและขีดความสามารถของประเทศไทยด้วยการเป็นหุ้นส่วนที่ทัดเทียมกัน ซึ่งนำประโยชน์ไปสู่ ๑) การสร้างเสริมสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยโดยเพิ่มช่องทางการติดต่อและความร่วมมือที่หลากหลายกับกลุ่มประเทศ/องค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ ๆ เหล่านี้มากขึ้น ๒) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิทยาการและเทคโนโลยีจากประเทศที่มีความก้าวหน้าที่จะส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถของไทย และ ๓) เป็นคุณประโยชน์ในการดำเนินโครงการพัฒนาให้มีทางเลือกด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการปรับใช้ และลดงบประมาณของฝ่ายไทย สามารถสนองตอบความต้องการของผู้รับได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น