เยอรมนี

เยอรมนี

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 เม.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 4,955 view

สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Federal Republic of Germany)

ข้อมูลทั่วไป

ความตกลง

๑) ความตกลงแม่บทว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเยอรมนี (ลงนามเมื่อ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓)       (ค.ศ. ๑๙๗๐)

๒) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือไตรภาคีไทย-เยอรมัน               (ลงนามเมื่อ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๑) (ค.ศ. ๒๐๐๘)        

 

รูปแบบความร่วมมือ

๑) ความร่วมมือทวิภาคี                              

๒) ความร่วมมือไตรภาคี

๓) ความร่วมมือระดับภูมิภาค

 

 

ความร่วมมือทางวิชาการในปัจจุบัน

ความร่วมมือ

รายละเอียด

ภูมิหลัง

ไทยและเยอรมนีดำเนินความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในกรอบทวิภาคีมากว่า ๖๐ ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๕๖ (พ.ศ. ๒๔๙๙) จนถึงปัจจุบัน และก่อให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมมากมายต่อการพัฒนาของไทยในด้านการศึกษา-อาชีวศึกษา วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี อุตสาหกรรม สาธารณสุข การเกษตร และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ไทยและเยอรมนีได้ลงนามความตกลงแม่บทว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเยอรมนี (Technical Co-operation) ในปี ค.ศ. ๑๙๗๐ (พ.ศ. ๒๕๑๓) และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือไตรภาคีไทย-เยอรมัน (ลงนามเมื่อ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๑) (ค.ศ. ๒๐๐๘) เพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันในระดับทวิภาคี ไตรภาคี และภูมิภาค จนถึงปัจจุบัน

๑) ทวิภาคี

ปัจจุบันมีโครงการความร่วมมือทวิภาคีไทย-เยอรมนี ภายใต้กระทรวงสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติและความปลอดภัยนิวเคลียร์ของเยอรมัน (German Federal Ministry of Environment, Nature Conservation and Nuclear Safety: BMU) จำแนกตามแผนงาน ดังนี้

        ๑. ความร่วมมือภายใต้แผนงาน International Climate Change Protection Initiative (IKI) ประกอบด้วย

๑.๑ โครงการสนับสนุนการจัดทำแผนการปรับตัวต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิติการจัดการความเสี่ยง (Risk-based National Adaptation Plan - Risk – NAP)

วัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนการปรับตัวต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ บูรณาการแนวทางและกระบวนการจัดการความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่กระบวนการ    จัดทำนโยบายและแผนในระดับกระทรวง ภูมิภาค และท้องถิ่น และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแก่บุคลากรภาครัฐที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับประเทศ ภูมิภาค และท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนการปรับตัวต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หน่วยงานดำเนินโครงการ คือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ระยะเวลาดำเนินโครงการ ปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๒

๑.๒ โครงการสิ่งแวดล้อมไทย-เยอรมนี (Thai-German Climate Change Policy Programme – TGCP)

วัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนการปกป้องสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย โดยส่งเสริมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หน่วยงานดำเนินโครงการ คือ สำนักงานนโยบาย-และแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ระยะเวลาดำเนินโครงการ ปี ๒๕๖๑ – ๒๕๖๔

๒. ความร่วมมือภายใต้กองทุน NAMA Facility ประกอบด้วย

๒.๑ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (Thailand Refrigeration and Air Conditioning Nationally Appropriate Mitigation Action (RAC-NAMA)

วัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดการใช้พลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงานและเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศตามที่ได้แสดงเจตจำนงไว้ โดยการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงและสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อชั้นบรรยากาศ รวมทั้ง      การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมระบบปรับอากาศและทำความเย็น หน่วยงานดำเนินโครงการ คือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ระยะเวลาดำเนินโครงการ ปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๔

๒.๒ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนา (Thai Rice NAMA)

วัตถุประสงค์ เพื่อเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการเพิ่มรายได้และยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกร โดยได้คัดเลือกพื้นที่ในภาคกลาง ๖ จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท อ่างทอง ปทุมธานี สิงห์บุรี อยุธยา และสุพรรณบุรี หน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการ คือ กรมการข้าว ระยะเวลาดำเนินโครงการ ปี ๒๕๖๑ – ๒๕๖๖

 

๒) ไตรภาคี

รัฐบาลไทยปรับบทบาทเป็นประเทศหุ้นส่วนความร่วมมือโดยเน้นความร่วมมือแก่ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ประกอบกับรัฐบาลเยอรมนีมีนโยบายลดความช่วยเหลือแก่ไทยและปรับแนวนโยบายต่อไทยเป็นความร่วมมือหุ้นส่วนในรูปแบบไตรภาคีแก่ประเทศที่สาม ซึ่งเน้นประเทศเพื่อนบ้านของไทย

ไทยและเยอรมนีดำเนินความร่วมมือในกรอบไตรภาคีกับประเทศที่สามมากว่า ๑๐ ปี ในหลายประเทศ อาทิ สปป. ลาว เวียดนาม ติมอร์-เลสเต และมองโกเลีย โดยปัจจุบันมีโครงการที่ดำเนินการอยู่ ได้แก่

- โครงการ Sustainable Tourism and Sufficiency Economy in Mongolia (ไทย-เยอรมนี-มองโกเลีย)

วัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่เป้าหมาย ๓ แห่ง ได้แก่ Bayankhongor Selenge และ Uvs ซึ่งฝ่ายไทยจะพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนให้แก่มองโกเลีย โดยเน้นทฤษฎีปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของไทยเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวและเพิ่มมูลค่าสินค้าในท้องถิ่น ระยะเวลาดำเนินโครงการ มกราคม ๒๕๖๑ - มิถุนายน ๒๕๖๓ หน่วยงานร่วมดำเนินโครงการ ได้แก่ ฝ่ายมองโกเลีย: The National Development Agency (NDA) ฝ่ายเยอรมนี: GIZ IMRI ประจำมองโกเลีย และฝ่ายไทย: กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ องค์การบริหาร- การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT-I)

๓) ระดับภูมิภาค

  1. ความร่วมมือภายใต้กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐ-เยอรมนี (BMZ) ประกอบด้วย

๑.๑ โครงการความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมคุณภาพของการอาชีวศึกษาที่มุ่งเน้น

ความต้องการของตลาดแรงงาน (Regional Cooperation Programme to Improve the Quality and Labour Market Orientation of Technical and Vocational Education and Training - RECOTVET) 

วัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร ศักยภาพขององค์กร รวมถึงความรู้และทักษะเพื่อความสอดคล้องของระบบการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมที่มุ่งเน้นความต้องการของตลาดแรงงานในภูมิภาค โดยเน้นการพัฒนาในกลุ่มประเทศ กัมพูชา เมียนมา ลาว และเวียดนาม ระยะเวลาดำเนินโครงการ ระหว่างเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐ - มิถุนายน ๒๕๖๓ หน่วยงานดำเนินโครงการฝ่ายไทย คือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)   

        ๒. ความร่วมมือภายใต้กระทรวงสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติและความปลอดภัยนิวเคลียร์ของเยอรมัน (German Federal Ministry of Environment, Nature Conservation and Nuclear Safety: BMU) ภายใต้แผนงาน International Climate Change Protection Initiative (IKI) ประกอบด้วย

            ๒.๑ โครงการพัฒนาการและการวัดผลการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน สำหรับสังคมเศรษฐกิจ-คาร์บอนต่ำในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางและกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Advancing and Measuring Sustainable Consumption and Production (SCP) for a Low-Carbon Economy in Middle-Income and Newly Industrialized Countries (Advance SCP)

วัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนการปกป้องสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยการส่งเสริมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดทำฐานข้อมูลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสนับสนุนให้หน่วยงานดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับกฎระเบียบการทำฉลากสีเขียว หน่วยงานดำเนินโครงการฝ่ายไทย คือ กรมควบคุมมลพิษ งบประมาณดำเนินโครงการในประเทศเป้าหมาย ประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ ยูโร ระยะเวลาดำเนินโครงการ ปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๑ และขยายระยะเวลาโครงการออกไปจนถึงปี ๒๕๖๓

            ๒.๒ โครงการเพิ่มการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในเอเชียและประเทศเป้าหมาย ๕ ประเทศ (Proliferation of Sustainable Consumption and Production (SCP) in Asia - the Next 5 Countries - SCP Outreach)

วัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและการใช้ฉลากสิ่งแวดล้อมและรูปแบบการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในประเทศเป้าหมาย ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เวียดนาม ภูฏาน และไทย หน่วยงานดำเนินโครงการฝ่ายไทย คือ กรมควบคุมมลพิษ ระยะเวลาดำเนินโครงการ ปี ๒๕๖๑ – ๒๕๖๕


 

สถานะ ณ เมษายน ๒๕๖๓

 

ภารกิจความร่วมมือหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศ