อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ และคณะเจ้าหน้าที่ศึกษาดูงาน ด้านการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ณ จังหวัดนครนายก

อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ และคณะเจ้าหน้าที่ศึกษาดูงาน ด้านการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ณ จังหวัดนครนายก

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ก.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 818 view

เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๓ นางสาวภัทรัตน์ หงษ์ทอง อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ นางศศิธร ว่องวีรโชติกิจ นายวัฒนวิทย์ คชเสนี รองอธิบดี พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการเผยแพร่และขับเคลื่อนการดำเนินงาน/โครงการ/กิจกรรม ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในบริบทหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมทั้งเพื่อสำรวจพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเป็นฐานข้อมูลในการจัดกิจกรรมศึกษาดูงานเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับประเทศคู่ร่วมมือ ณ จังหวัดนครนายก

คณะของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้ศึกษาดูงานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ๒ แห่ง ได้แก่

๑. ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงศรียา ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรอินทรีย์ประยุกต์ โดยมีลุงไสว ศรียา หัวหน้าศูนย์เป็นผู้ให้ความรู้แก่คณะ คุณลุงไสวผู้ที่ผันตัวจากอาชีพภารโรงมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว โดยได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายก และพาไปดูงานโครงการพระราชดำริฯ คุณลุงได้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ โดยทำการเกษตรแบบพออยู่พอกิน เหลือก็เอาไปขาย ทำให้ครอบครัวของคุณลุงหลุดพ้นจากความยากจน และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บนพื้นฐานของความพอเพียง และแบ่งปันความรู้ให้แก่เพื่อนบ้าน คุณลุงไสวเป็นเกษตรกรที่ถูกกล่าวขานว่า เกษตรเกิน เพราะคุณลุงเป็นคนอารมณ์ดี กล้าที่จะคิดนอกกรอบและลงมือทดลองทำสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ทำให้ผลงานที่เห็นเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และแฝงไปด้วยเทคนิคทางวิชาการ ตัวอย่างเช่น การใช้เครื่องดื่มชูกำลังในการเร่งการเจริญเติบโตของพืช การปลูกพริกกลับหัว การถ่วงหินบวบเพื่อให้ปลายขยายยาวขึ้น การปลูกผักในต้นกล้วย การเสียบยอดพันธุ์ไม้หลายชนิดไว้บนต้นสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงต้นดียว หรือการเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้ด้วยการทำเป็นผลไม้ในขวดแก้ว นอกจากนี้ภายในศูนย์เรียนรู้ยังมีสินค้าแปรรูป และสินค้าจากชาวบ้านอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ส้มโอ หน่อไม้สด หน่อไม้ดอง มันม่วงฉาบ โดยคุณลุงให้ชาวบ้านเข้ามาขายสินค้าได้ ไม่เก็บค่าเช่าที่ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผลผลิตที่ปลอดสารเคมี และปลอดภัยต่อผู้บริโภคเท่านั้น

๒. ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านทุ่งกระโปรง ตำบลป่าขะ อำเภอบ้านนา โดยมีผู้ใหญ่สมหมาย เกตุแก้ว เป็นผู้ให้ความรู้ เล่าประวัติความเป็นมาของชุมชน สรุปได้ว่า ก่อนนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ชาวบ้านประสบปัญหาหนี้สิ้น ความแตกแยก ปัญหาสุขภาพจากสารเคมีในการเกษตร และการทิ้งถิ่นฐาน จึงเป็นเหตุให้มีการประชุมหมู่บ้านโดยมีกรรมการหมู่บ้านร่วมกันพิจารณา จนสรุปเป็นมติเอกฉันท์ ให้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ โดยจะอยู่ภายใต้ “แผนชุมชน”   ที่เน้นแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในครัวเรือน โดยวิธีที่นำมาใช้มีทั้งเกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ กลุ่มอาชีพ และยังคงรักษาทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ด้วย ตัวอย่างเช่น กลุ่มทำกระท้อนสามรสและกระท้อนจี๊ดจ๊าด ที่แปรรูปจากกระท้อนจำนวนมากในหมู่บ้าน ให้เป็นสินค้า OTOP ระดับ ๔ ดาว นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทำไข่เค็มจากดินจอมปลวก และทำขนมทองม้วนจากผักกูดอีกด้วย จุดเด่นอีกอย่างของบ้านทุ่งกระโปรง คือ มีแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำที่ใช้ในการบริโภค และการเกษตรได้ดี ไม่ว่าจะเป็น การทำธนาคารใต้ดิน หรือที่เรียกว่าหลุมขนมครก หลุมแก้มลิง หรือการปลูกพืชไร้ดิน เพื่อลดการสูญเสียน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของชาวเกษตรกร นี่จึงเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ได้อย่างคุ้มค่า นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างการปลูกพืชเกษตรผสมผสาน ที่สวนหนึ่งไร่พอ โดยคุณลุงเจ้าของสวน ใช้พื้นที่จำนวนหนึ่งไร่ปลูกพืชเกษตรผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นพืชผักสวนครัว ไม้ดอกไม้ประดับ โดยเป็นการปลูกแบบพึ่งพาตนเอง นำผลผลิตที่ได้มาใช้สอยในครัวเรือน และขายให้ชาวบ้าน รายได้วันละ ๓๐๐ – ๕๐๐ บาท

 การศึกษาดูงานในครั้งนี้ สอดคล้องกับการดำเนินงานใน ๔ มิติ ประกอบด้วย ความมั่นคงทางด้านอาหาร ความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข ความมั่นคงทางด้านอาชีพ และความมั่นคงทางด้านพลังงาน สำหรับปัจจัยที่ทำให้ศูนย์การเรียนรู้ทั้งสองแหล่งประสบความสำเร็จ คือ การศึกษาเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอและรู้จริง  ทั้งในแง่ของเทคนิคและวิชาการต่างๆ เพื่อนำมาปรับประยุกต์ใช้กับพื้นที่ให้เหมาะสม และถ่ายทอดประสบการณ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน และอีกหนึ่งปัจจัยคือ การมีส่วนร่วม และจิตอาสาของคนในชุมชนกันเองที่ร่วมกันคิด เสนอแนะ และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงการประสานงานกับภาคีเครือข่าย เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นเหตุผลให้นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และจะเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญ ที่จะนำไปดำเนินงานเสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือกับประเทศคู่ร่วมมือ ในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SEP for SDGs Partnership) ของสหประชาชาติ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยและยกสถานะไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศต่อไป

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ