TICA's Development Diplomacy in Public Health during the COVID-19 Era

TICA's Development Diplomacy in Public Health during the COVID-19 Era

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ม.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,034 view

รายการบันทึกสถานการณ์ หัวข้อ "TICA's Development Diplomacy in Public Health during the COVID-19 Era" โดย นางสาวชนิตนาท ญาณกิตติกุล นักการทูตปฏิบัติการ

TICA กับพัฒนาการการทูตด้านสาธารณสุขในยุคโควิด-๑๙

สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ทำให้หลายประเทศดำเนินมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวด ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต
ในรูปแบบปกติและการเดินทางระหว่างประเทศ และทำให้หลายกิจกรรมต้องหยุดชะงัก หรือชะลอออกไป ภายใต้วิกฤตครั้งนี้การทูตไทยมีบทบาทอย่างไรบ้าง?

รายการ MFA Update ครั้งนี้ (https://youtu.be/ua3v65JB9q8) เราจะมาพูดคุยกับ ‘คุณแพม’ นางสาวชนิตนาท ญาณกิตติกุล นักการทูตปฏิบัติการ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ในเรื่อง ‘บทบาทของ TICA กับพัฒนาการการทูตด้านสาธารณสุขในยุคโควิด-๑๙’ กันครับ

61d3d2da323afd53d61591db

เมื่อพูดถึงความร่วมมือระหว่างประเทศก็ต้องนึกถึงกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ TICA (Thailand International Cooperation Agency) คุณแพม เล่าว่า TICA เป็นหน่วยงานใหม่ภายใต้สังกัดของกระทรวงการต่างประเทศ โดยจัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๘ มีหน้าที่รับผิดชอบภารกิจความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ และภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ TICA ยังคงดำเนินภารกิจในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านเกษตรกรรม การศึกษา หรือการพัฒนาแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านสาธารณสุข

สถานการณ์โควิด-๑๙ ได้ทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตและกิจกรรมหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal ส่งผลให้โครงการและกิจกรรมต่าง ๆ หลายอย่างของ TICA ต้องหยุดชะงัก เว้นแต่ภารกิจด้านสาธารณสุข โดยตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๖๓ TICA และกระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และแบ่งปันองค์ความรู้ระหว่างกัน โดยแผนงานแบ่งออกเป็น ๓ ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก ๓ ประการ ได้แก่ (๑) การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุข (๒) การสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นเร่งด่วน และ (๓) การเตรียมความพร้อมในการวางระบบเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ และโรคอุบัติใหม่

TICA ยังได้พัฒนาต่อยอดโครงการดังกล่าว ด้วยการขยายโครงการไปสู่ประเทศอื่น ๆ อาทิ สาธารณรัฐเกาหลี และเปรู ล่าสุด มีบุคลากรทางการแพทย์จากเปรูเข้าร่วมโครงการกว่า ๓๐๐ ราย ที่สำคัญไปกว่านั้น TICA ได้จัดการองค์ความรู้ หรือ Knowledge Management ผ่านช่องทางออนไลน์ ภายใต้ชื่อ “TICA’s Knowledge Bank on COVID-19” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ สามรถเรียนรู้จากประสบการณ์ของไทยในการจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ซึ่งท่านผู้อ่านสนใจสามารถติดตามได้ทาง YouTube Podcast และ Spotify ของ TICA

นอกจากนี้ TICA ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเร่งตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ จึงได้ประสานความร่วมมือ และได้มอบเครื่องมือและอุปกรณ์ตรวจหาเชื้อด้วยระบบ RT-PCR กับโรงพยาบาล ๖ แห่งในกัมพูชา เมียนมา และ สปป.ลาว และวางแผนที่จะขยายความร่วมมือในลักษณะนี้กับโรงพยาบาลในประเทศอื่น ๆ ในอนาคตด้วย เพราะเมื่อยิ่งพบเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ไวเท่าใด ก็จะสามารถรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากเท่านั้น ซึ่งเป็นตามหลักการที่ TICA ยึดมั่น – ‘ไม่มีประเทศใดที่จะปลอดภัยจากสถานการณ์โรคระบาดจนกว่าทุกประเทศจะปลอดภัย’

และนี่เป็นอีกหนึ่งภารกิจด้านการทูตไทยที่ยังคงดำเนินไปอย่างสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก แม้ว่าประตูพรมแดนระหว่างประเทศจะปิด ทว่าประตูแห่งความร่วมมือระหว่างไทยกับนานาประเทศไม่ได้ปิดลงไปด้วย ในทางกลับกัน ความร่วมมือระหว่างประเทศกลับมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกันมากขึ้นภายใต้วิกฤตโรคระบาดนี้ เป็นโอกาศให้ประเทศไทยได้แสดงไมตรีจิตต่อประเทศเพื่อนบ้านด้วยการสนับสนุนเกื้อกูลกันในหลายด้านอย่างยั่งยืนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นายเอกวิทย์ ซอหะซัน เจ้าหน้าที่ประมวลและวิเคราะห์ข่าว กรมสารนิเทศ และเว็บไซต์ Blockdit https://www.blockdit.com/posts/61d3d3fce4c6250c71217050

วิดีโอประกอบ