TICA ร่วมกับศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดหลักสูตรอบมรมเตรียมความพร้อมในการเป็นอาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends from Thailand – FFT) ประจำปี ๒๕๖๔

TICA ร่วมกับศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดหลักสูตรอบมรมเตรียมความพร้อมในการเป็นอาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends from Thailand – FFT) ประจำปี ๒๕๖๔

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 พ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 853 view

เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กล่าวเปิดหลักสูตรฝึกอบรมเตรียมความพร้อมในการเป็นอาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends from Thailand – FFT ) ประจำปี ๒๕๖๔ ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ – กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ก่อนที่อาสาสมัครเพื่อนไทยจะเดินทางไปฏิบัติหน้าที่ในประเทศเป้าหมายในช่วงเมษายน ๒๕๖๕ เป็นต้นไป

อธิบดีกรมความร่วมมือฯ ได้ย้ำบทบาทที่สำคัญของอาสาสมัครเพื่อนไทยที่มีภารกิจในการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนาเพื่อให้ความช่วยเหลือในประเทศต่าง ๆ ซึ่งถือได้ว่า เป็นการทำหน้าที่ “ทูตภาคประชาชน” อย่างแท้จริง บทบาทของอาสาสมัครเพื่อนไทยนอกจากจะช่วยส่งเสริมบทบาทและภาพลักษณ์ ที่ดีของไทยในเวทีโลกในการเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่เข้มแข็งและยั่งยืนแล้ว อาสาสมัครเพื่อนไทย ยังช่วยเสริมสร้างพลังเยาวชน ของไทยในการทำงานที่สร้างสรรค์ในฐานะอาสาสมัครในต่างประเทศ และช่วยส่งต่อแรงบันดาลใจในการพัฒนาศักยภาพตนเองให้แก่เยาวชนรุ่นหลัง อีกด้วย

ในโอกาสนี้ กรมความร่วมมือฯ ได้จัดการบรรยายสรุปในหัวข้อต่าง ๆ เพื่อให้การอบรมเตรียมความพร้อมอาสาสมัครเพื่อนไทยก่อนไปปฏิบัติงานในต่างประเทศครอบคลุมเนื้อหาความรู้ที่จำเป็นสำหรับการไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ ได้แก่ “อาสาสมัครเพื่อนไทยคืออะไร” โดยนางสาวพิณ ศรีดุรงคธรรม เลขานุการกรมความร่วมมือฯ “การทำงานในวัฒนธรรมข้ามชาติ” โดยนายบรรจง อมรชีวิน อดีตรองอธิบดีกรมความร่วมมือฯ และ “ประสบการณ์ของอาสาสมัครเพื่อนไทยที่ไปปฏิบัติงานภูฏานและเวียดนาม” โดยนางสาวชนะรัฐ พุ่มคชา และนางสาวอุมาภรณ์ อำภาสุวรรณ์ อดีตอาสาสมัครเพื่อนไทยที่ไปฏิบัติงานในภูฏานและเวียดนาม ตามลำดับ

หลักสูตรอบรมเตรียมความพร้อมฯ ในครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้ผู้ที่จะไปปฏิบัติหน้าที่เป็นอาสาสมัครเพื่อนไทย ได้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ และการปฏิบัติตนที่เหมาะสมในฐานะอาสาสมัคร รวมทั้งการพัฒนาทักษะด้านวิชาการที่จำเป็นแก่การปฏิบัติงานในแต่ละสาขา

โครงการ FFT เป็นโครงการที่กรมความร่วมมือฯ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตลอด ๑๕ ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันกรมความร่วมมือฯ ได้ส่งเยาวชนไทยทั้งสิ้น ๑๖๓ คน ไปปฏิบัติงานด้านการพัฒนาในประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ และประเทศในภูมิภาคแอฟริกา เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศต่างๆ ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์กรสหประชาชาติ ทั้งนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔ สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UN DESA) ได้คัดเลือกให้โครงการ FFT เป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จและแนวปฏิบัติที่ดีในการขับเคลื่อนการบรรลุ SDGs

 

คลิปคำกล่าวพิธีเปิดหลักสูตรฝึกอบรม

Screenshot_(5)_2

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

วิดีโอประกอบ