TICA เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนภายใต้โครงการลดปัญหาความยากจนโดยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย การพัฒนาทักษะแรงงานและการยกระดับโอกาสการเข้าถึงการจ้างงานในประเทศกัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และไทย ระยะที่ ๒

TICA เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนภายใต้โครงการลดปัญหาความยากจนโดยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย การพัฒนาทักษะแรงงานและการยกระดับโอกาสการเข้าถึงการจ้างงานในประเทศกัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และไทย ระยะที่ ๒

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ม.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 ม.ค. 2567

| 521 view

เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๗ ณ สถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (ในขณะนั้น) พร้อมด้วยนายเปโดร สวาห์เลน เอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย สปป. ลาว และกัมพูชา และนางสาวเจอรัลดีน อองซาร์ค หัวหน้าสำนักงานประจำประเทศไทย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ได้ร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ องค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งสมาพันธรัฐสวิส และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อดำเนินโครงการลดปัญหาความยากจนโดยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย การพัฒนาทักษะแรงงาน และการยกระดับโอกาสการเข้าถึงการจ้างงานในประเทศกัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และไทย ระยะที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๖๔ - ๒๕๖๘) 

ในโอกาสดังกล่าว เอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย สปป. ลาว และกัมพูชา ได้เป็นเจ้าภาพจัดพิธีลงนามและงานเลี้ยงอาหารกลางวันโดยมีคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากทั้งสามหน่วยงานคู่ความร่วมมือ ตลอดจนแขกรับเชิญเกียรติยศ ได้แก่ นางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย นายคำพัน อั่นลาวัน เอกอัครราชทูต สปป. ลาว ประจำประเทศไทย และนายฮุน ซาเรือน เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะภายใต้กรอบความร่วมมือเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี ซึ่งฝ่ายไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการดำเนินความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับต่างประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

โครงการลดปัญหาความยากจนโดยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย การพัฒนาทักษะแรงงาน และการยกระดับโอกาสการเข้าถึงการจ้างงานในประเทศกัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และไทย ระยะที่ ๒ มีวัตถุประสงค์หลักคือ แรงงานข้ามชาติสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เดินทางเข้ามาทำงานยังประเทศไทย รวมถึงแรงงานที่เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม ได้รับความคุ้มครองตลอดวงวรการย้ายถิ่น และสามารถเข้าถึงการพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อนำไปสู่การจ้างงานที่มีคุณค่า ซึ่งจะไม่เพียงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน แต่ยังส่งผลดีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและช่วยลดปัญหาความยากจนในระยะยาว ทั้งในประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง โดยองค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งสมาพันธรัฐสวิสได้เข้ามีบทบาทหลักในการส่งเสริมการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัยในเขตอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านการดำเนินโครงการดังกล่าวตั้งแต่ระยะที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๖๔)

การเข้าเป็นหุ้นส่วนภายใต้โครงการลดปัญหาความยากจนโดยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย การพัฒนาทักษะแรงงาน และการยกระดับโอกาสการเข้าถึงการจ้างงานในประเทศกัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และไทย ระยะที่ ๒ ของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศในลักษณะไตรภาคี จะช่วยส่งเสริมและต่อยอดการดำเนินงานขององค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งสมาพันธรัฐสวิส และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน โดยฝ่ายไทยมุ่งให้ความร่วมมือใน ๓ ด้าน ได้แก่ (๑) การประชุมหารือในเชิงนโยบาย (๒) การพัฒนาขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และ (๓) การพัฒนาทักษะฝีมือให้กับแรงงานข้ามชาติ (สัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา) ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่เก่ี่ยวข้องของไทย มาตรฐานสากล และบรรทัดฐานระหว่างประเทศที่ไทยได้ให้การรับรอง โดยเฉพาะข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ