การจัด Webinar ครั้งที่ 2 ระหว่างไทยกับเปรู หัวข้อ "The Shift of Thailand’s COVID-19 Management Policy Amidst the Challenges of New Variants: Home Isolation Approach and the Alteration of Clinical Practice Guidelines” วันพุธที่ 27 ต.ค. 2564 ผ่าน Teleconference

การจัด Webinar ครั้งที่ 2 ระหว่างไทยกับเปรู หัวข้อ "The Shift of Thailand’s COVID-19 Management Policy Amidst the Challenges of New Variants: Home Isolation Approach and the Alteration of Clinical Practice Guidelines” วันพุธที่ 27 ต.ค. 2564 ผ่าน Teleconference

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ต.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 909 view

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ร่วมกับ Peruvian Agency for International Cooperation (APCI) จัด Webinar ทางการแพทย์ ครั้งที่ 2 ระหว่างไทยกับเปรู ภายใต้แผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย - เปรู ระยะ 3 ปี สาขาสาธารณสุข 

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นผู้กล่าวเปิดกิจกรรม Webinar ทางการแพทย์ ครั้งที่ 2 ร่วมกับ ดร. Augusto Magno Tarazona Fernández ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุขเปรู นาย José Antonio Gonzales Norris ผู้บริหาร APCI ดร. José Luis Seminario Carrasco ผู้อำนวยการ National School of Public Health (ENSAP) นายสรยุทธ ชาสมบัติ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลิมา และนางสาว Carmen Azurin อัครราชทูตเปรูประจำประเทศไทย

โดย Webinar ครั้งนี้ จัดในหัวข้อ "The Shift of Thailand’s COVID-19 Management Policy Amidst the Challenges of New Variants: Home Isolation Approach and the Alteration of Clinical Practice Guidelines" โดยมี พญ. นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ เป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของไทยเกี่ยวกับการปรับนโยบายและแนวเวชปฏิบัติในการดูแลรักษาผู้ป่วย COVID-19  ท่ามกลางความท้าทายของการระบาดของสายพันธุ์ใหม่

กิจกรรมนี้เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องภายใต้แผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย - เปรู ระยะ 3 ปี และได้รับการสนใจจากฝ่ายเปรูเป็นอย่างมาก โดยมีผู้เข้าร่วมฟังมากกว่า 300 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์เปรู วิทยาลัยแพทย์ และ รพ. ประจำท้องถิ่น และได้มีการซักถาม พญ. นฤมลฯ ในประเด็นที่หลากหลาย เช่น แนวทางการใช้ยารักษาผู้ป่วย COVID-19 ค่าใช้จ่ายและผลข้างเคียงจากการใช้ยา การรักษาผู้ป่วยเด็กและผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ การรักษาผู้ป่วยจากต่างสายพันธุ์ การกลับมาทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อ แนวทางการฉีดวัคซีน การติดเชื้อซ้ำ การใช้ชุดตรวจแบบต่าง ๆ การดูแลผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้าน การดูแลสุขภาพจิตของผู้ป่วย นโยบายและข้อบังคับที่เกี่ยวกับการออกไปทำงานและการเดินทาง เป็นต้น

ในช่วงท้ายของกิจกรรม พญ. นฤมลฯ ได้ถอดบทเรียนจากการจัดการกับโรคระบาดครั้งนี้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเตรียมความพร้อม ไม่ใช่แค่เฉพาะสำหรับโรค COVID-19 แต่ยังรวมถึงโรคอุบัติใหม่อื่น ๆ และแม้ว่าไทยจะพยายามเตรียมความพร้อมมาตลอด แต่ก็ต้องยอมรับว่า โรค COVID-19 มาพร้อมกับความรู้ใหม่จำนวนมาก ที่ไทยจะต้องเรียนรู้และปรับตัวเพื่อตั้งรับให้ทัน และหาทางที่จะป้องกันการระบาดและการสูญเสียในอนาคต

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ