วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ต.ค. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 ต.ค. 2565
กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น ด้านการทรัพยากรมนุษย์ ประจำปี ๒๕๖๕ ภายใต้แผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างไทย - ลาว ระยะ ๓ ปี ฉบับที่ ๑ (ปี ๒๕๖๓-๒๕๖๕) ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จำนวน ๕ หลักสูตร โดยมีผู้รับทุนรวมทั้งสิ้น ๗๖ คน ดังนี้
๑. หลักสูตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการส่งเสริมการส่งออก (Trade Facilitation and Export Promotion) จัดระหว่างวันที่ ๑๑ – ๑๗ กันยายน ๒๕๖๕ โดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) มีผู้เข้าร่วม ๑๕ คน
๒. หลักสูตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในมิติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม และนวัตกรรม บนความท้าทายของวิกฤตเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม (Inclusive Economic Development: Infrastructure, Industry and Innovation in Economic and Environment Challenges) จัดระหว่างวันที่ ๔ – ๑๐ กันยายน ๒๕๖๕ โดยสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา มีผู้เข้าร่วม ๑๔ คน
๓. หลักสูตรการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนเชิงนิเวศและอนุรักษ์อย่างยั่งยืนกับการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพิเพียง (Community – based Ecotourism based on Sufficiency Economy Philosophy: CBT-Eco-SEP) จัดระหว่างวันที่ ๑๑ – ๑๗ กันยายน ๒๕๖๕ โดยสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา มีผู้เข้าร่วม ๑๔ คน
๔. หลักสูตรการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนสีเขียวและการพัฒนาที่ยั่งยืนของเกษตรที่สูง จัดระหว่างวันที่ ๒๒ – ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ โดยวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีผู้เข้าร่วม ๑๕ คน
๕. หลักสูตร Knowlwdge of Diplomacy for participants from Lao People’s Democratic Republic จัดระหว่างวันที่ ๒๕ กันยายน – ๒ ตุลาคม ๒๕๖๕ โดยสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ กระทรวงการต่างประเทศ มีผู้เข้าร่วม ๑๕ คน
รวมทั้งสนับสนุนการฝึกอบรมหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพ (Capacity Building) การใช้ระบบการเฝ้าระวัง การเตือนภัยให้เจ้าหน้าที่ฝ่าย สปป. ลาว ๓ คน ระหว่างวันที่ 11 - 30 กันยายน 2565 (รวมวันเดินทาง) ภายใต้โครงการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ เพื่อสนับสนุนการเตือนภัยอย่างยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง สปป. ลาว ของมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ร่วมกับสำนักงานสารสนเทศทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สสน.)
การจัดหลักสูตรข้างต้นประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี นอกจากผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ สปป. ลาว จะได้รับองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของไทย อาทิ การพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนเชิงนิเวศและอนุรักษ์ ภายใต้รูปแบบ 4 Ps model (Public – Private – People – Partnership) โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) การเกษตรที่สูง การเกษตรสีเขียว (เกษตรปลอดภัย) และเกษตรสะอาด (เกษตรอินทรีย์) เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและเกษตรยั่งยืน โดยการนำแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาเพื่อสนับสนุนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของ สปป. ลาว อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่และหน่วยงานดำเนินการฝ่ายไทยยังได้สร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมด้วยเช่นกัน โดย ไทยและ สปป. ลาว เห็นพ้องร่วมกันว่า “การพัฒนาคน” เป็นพื้นฐานและหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ เพื่อเป็นฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 70 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - สปป. ลาว กรมความร่วมมือระหว่างประเทศยังเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการทูตและการต่างประเทศ และสร้างเครือข่ายระดับเจ้าหน้าที่ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายในโอกาสซึ่งสามารถนำไปขยายผลและต่อยอดความร่วมมือภายใต้แผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย-สปป. ลาว ฉบับที่ ๒ (ปี ๒๕๖๖ – ๒๕๖๘) ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในอนาคตต่อไป
รูปภาพประกอบ