การบรรยายหัวข้อ “การพัฒนาอย่างยั่งยืนกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรพัฒนาองค์กร ความรู้และเสริมสร้างเครือข่ายขับเคลื่อน การพัฒนาตามแนวพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (พพร.) รุ่นที่ ๙

การบรรยายหัวข้อ “การพัฒนาอย่างยั่งยืนกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรพัฒนาองค์กร ความรู้และเสริมสร้างเครือข่ายขับเคลื่อน การพัฒนาตามแนวพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (พพร.) รุ่นที่ ๙

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ส.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 10 ส.ค. 2565

| 597 view

วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๕ นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “การพัฒนาอย่างยั่งยืนกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรพัฒนาองค์กร ความรู้และเสริมสร้างเครือข่ายขับเคลื่อน การพัฒนาตามแนวพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (พพร.) รุ่นที่ ๙ จากหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ จำนวน ๕๒ คน ณ ห้องประชุม ๑๐๑ ชั้น ๑ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้บรรยายให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับทราบบทบาทของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเพื่อเผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในต่างประเทศในรูปแบบต่าง ๆ โดยได้ร่วมมือเชิงบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐของไทยที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ และประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินโครงการ/กิจกรรมให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละประเทศ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบาย SEP for SDGs แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่างประเทศ (5S 5มี)

การดำเนินความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเพื่อเผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในต่างประเทศถือว่าประสบความสำเร็จจะเห็นได้จากการที่ (๑) สปป. ลาวได้ขอให้ไทยสนับสนุนการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืนตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่วิทยาลัยและโรงเรียนเทคนิคมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์เรียนรู้ฯ ใน สปป. ลาว จำนวน ๖ แห่ง และ (๒) ภูฏานได้มองไทยเป็นแบบอย่างในการพัฒนา โดยขอให้ไทยสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมด้านการเกษตรโดยการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ OGOP จนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และนำไปจำหน่ายในสนามบินได้ และการขอรับอาสาสมัครเพื่อนไทยในสาขาต่าง ๆ เพื่อไปปฏิบัติงานในภูฏาน

นอกจากการร่วมมือกับหน่วยงานไทยแล้วกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ยังมีความร่วมมือกับประเทศคู่ร่วมมือต่าง ๆ อาทิ ญี่ปุ่น เยอรมนี และลักเซมเบิร์ก ซึ่ง United Nation Department of Economic and Social Affairs (UNDESA) ได้คัดเลือกโครงการความร่วมมือไตรภาคีไทย-เยอรมนี-มองโกเลียให้เป็นตัวอย่างของความสำเร็จและแนวปฏิบัติที่ดีในการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้เผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ SEP Podcast คู่มือขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในต่างประเทศ และ Roll up

เมื่อจบการบรรยายดังกล่าว ผู้เข้ารับการอบรมได้สอบถามกันอย่างกว้างขวางในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในต่างประเทศได้สอดแทรกเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่หรือไม่ นโยบายการพิจารณาการดำเนินโครงการกับประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ จะเป็นการส่งเสริมให้เป็นคู่แข่งทางการค้าหรือไม่ สัดส่วนการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินความร่วมมือเพื่อการพัฒนา เห็นได้ว่า การบรรยายในครั้งนี้ทำให้ผู้เข้ารับการอบรมมีมุมมองที่กว้างขึ้นในเรื่องการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทยที่เผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในต่างประเทศ ซึ่งหลายหน่วยงานเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงานดังกล่าวด้วยเช่นกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ