วันที่นำเข้าข้อมูล 21 พ.ค. 2567
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 พ.ค. 2567
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 นางอรุณี ไฮม์ม รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นประธานร่วมกับนายดวงตาวัน สีสมบัด หัวหน้าศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร ห้วยซอน - ห้วยซั้ว (หลัก 22) ในการประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการ (Project Steering Committee – PSC) โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรเมืองนาซายทองและเมืองสังทอง นครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว พร้อมด้วยคณะกรรมการกำกับโครงการ ได้แก่ นายมานพ หนูสอน รองอธิบดีกรมประมง นายธีรวิทย์ ขาวบุบผา ผู้อำนวยการกองงานพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กรมปศุสัตว์ นายสรรัตน์ ปวริญญานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายธนฤทธิ์ รัชตะประกร ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการพื้นที่ 2 สำนักงาน กปร. นางชรินทร์ทิพย์ ยศธแสนย์ ผู้อำนวยการกองความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ และนายศุภวัฒน์ น้อยประศรี เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยและลาวที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว ณ ศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร ห้วยซอน - ห้วยซั้ว (หลัก 22) สปป. ลาว ในโอกาสนี้ นายศุภรัชต์ อินทราวุธ รองเลขาธิการสำนักงาน กปร. พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงาน กปร. เข้าร่วมประชุมดังกล่าวด้วย
การจัดการประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการ ปิดและส่งมอบโครงการให้กับศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร ห้วยซอน - ห้วยซั้ว (หลัก 22) สปป. ลาว ซึ่งกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ร่วมกับสำนักงาน กปร. กรมประมง กรมปศุสัตว์ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้ความร่วมมือทางวิชาการเพื่อดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการฯ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2564 ถึงปี 2566 โดยได้คัดเลือกเกษตรกรเมืองนาซายทอง และเมืองสังทองเข้าร่วมโครงการ จำนวน 100 ครัวเรือน แบ่งกลุ่มเกษตรกรเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประมง กลุ่มปศุสัตว์ และกลุ่มกษตรผสมผสาน โดยทั้ง 3 กลุ่ม ได้เข้าร่วมการศึกษาดูงาน ฝึกอบรมความรู้ เพื่อสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ. สกลนคร และศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร ห้วยซอน - ห้วยซั้ว (หลัก 22) นครหลวงเวียงจันทน์โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้สนับสนุนปัจจัยการผลิตและวัสดุอุปกรณ์การเกษตรแก่เกษตรกรทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ ลูกปลานิลแปลงเพศ ลูกปลาดุกยักษ์ ลูกกบนา อาหารปลา กระชังบก กระชังมุ้งถัก พ่อและแม่พันธุ์เป็ด พ่อและแม่พันธุ์ไก่ อาหารเป็ด อาหารไก่ ตาข่ายไนล่อน เวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ปีก ก้อนเชื้อเห็ด พันธุ์ผักต่างๆ เช่น ถั่วฝักยาว พริก โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรได้รับความรู้ สามารถนำไปปฏิบัติและถ่ายทอดความรู้/ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรรายอื่นได้ เพื่อสร้างความมั่งคงทางอาหารภายในครัวเรือน และสามารถนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เสริมได้ โดยได้คัดเลือกเกษตรกรต้นแบบ (หัวไว ใจสู้) ที่ประสบความสำเร็จและสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรรายอื่นได้ ใน 3 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ราย รวมเป็น 30 ราย
หลังเสร็จสิ้นการประชุมฝ่ายไทยได้ส่งมอบโครงการให้ฝ่ายลาว โดยมีนายดวงตาวัน สีสมบัด หัวหน้าศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร ห้วยซอน - ห้วยซั้ว (หลัก 22) เป็นผู้แทนฝ่ายลาวรับมอบโครงการ เพื่อไปพัฒนาให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป ต่อจากนั้นคณะผู้แทนไทยได้เดินทางไปเยี่ยมเยือนบ้านเกษตรกรตัวอย่าง ณ เมืองนาซายทอง จำนวน 3 ราย ได้แก่ (1) นายสีฟอง วงพะมะสม เกษตรกรต้นแบบด้านเลี้ยงปลาในบ่อดิน (2) นางแสงจันทร์ ไซยะพุด เกษตรกรต้นแบบด้านการเลี้ยงเป็ดเทศ (3) นายสุบัน แสงดารา เกษตรกรต้นแบบด้านการเลี้ยงไก่พื้นเมือง และเมืองสังทอง จำนวน 3 ราย ได้แก่ (1) นางฮ่อง เส็ง เกษตรกรต้นแบบด้านการเลี้ยงไก่พื้นเมือง (2) นายลอย สีทะลังแสง เกษตรกรต้นแบบด้านการเลี้ยงกบในกระชังบก (3) นางวิไลทอง กองแก้ว เกษตรกรต้นแบบด้านการเลี้ยงเป็ดเทศ
รูปภาพประกอบ