วันที่นำเข้าข้อมูล 18 มิ.ย. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 18 มิ.ย. 2565
นายวัฒนวิทย์ คชเสนี รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ด้านเศรษฐกิจ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕ เมื่อวันทื่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ และคณะอนุกรรมการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ด้านสังคม ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๕ ณ รร. เซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ โดยมีผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศเข้าร่วมด้วย
โดยการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ด้านเศรษฐกิจ มีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบในคณะอนุกรรมการฯ รวม ๑๖ หน่วยงานเข้าร่วมประชุม ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
และการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ด้านสังคม มีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบในคณะอนุกรรมการฯ รวม ๙ หน่วยงานเข้าร่วมประชุม ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วัจัย และนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความั่นคงของมนุษย์ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และ กรมพัฒนาชุมชน
ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ทั้งด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม รับทราบ ดังนี้
๑. การแบ่งส่วนราชการกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๔ ตามกฎกระทรวงฯ ในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ โดยได้ปรับเปลี่ยนจากการแบ่งโครงสร้างกรมฯ ตามรายภูมิภาค (area-based) เป็นรายสาขา (sector-based) และภารกิจหลัก คือ การเสนอแนะนโยบาย ยุทธศาสตร์ การบริหารความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไทย การขยายบทบาทของประเทศไทยในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในเวทีระหว่างประเทศ และการบูรณาการการให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของประเทศไทย เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์กับนานาประเทศในระดับต่าง ๆ
๒. ภาพรวมการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (Development Cooperation) ของไทย ประจำปี ๒๕๖๓ และ ๒๕๖๔ พร้อมสถิติการให้ความช่วยเหลือของไทยอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance: ODA)
๓. ความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนการจัดทำแผนปฏิบัติการบูรณาการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไทย ระยะ ๓ ปี ตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการกับต่างประเทศ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๓ เป็น “แผนปฏิบัติราชการกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (พ.ศ. ๒๕๖๓ – ๒๕๖๕) เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำแผน ระดับที่ ๓
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณา ดังนี้
๑. ทิศทางและแนวโน้มของความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับต่างประเทศของไทย เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติราชการกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ระยะ ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) ใน ๖ ประเด็น คือ (๑) ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทยมีบทบาทมากขึ้น (๒) การตอบสนองต่อความต้องการของหน่วยงานไทยมากขึ้น (๓) การขยายความร่วมมือแบบใต้ – ใต้ (South – South Cooperation) (๔) การขยายความร่วมมือแบบหุ้นส่วนและไตรภาคีเพิ่มขึ้น (๕) บทบาทของไทยในการส่งเสริมการรวมกลุ่มในอนุภูมิภาคและภูมิภาคสูงมาก และ (๖) การตอบสนองต่อประเด็นเกิดใหม่ (Emerging Issues)
๒. ร่างแผนปฏิบัติราชการกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ระยะ ๕ ปี ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐ ซึ่งได้นำประเด็นยุทธศาสตร์ (Strategic Issues) ๖ ข้อ ตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการกับต่างประเทศ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๓ มากำหนดจัดทำเป็นร่างแผนปฏิบัติราชการกรมความร่วมมมือระหว่างประเทศ ระยะ ๕ ปี ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ ๑ : การบูรณาการความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Integrated Knowledge and Best Practices) ของไทยในการพัฒนาประเทศเป้าหมายภายใต้กรอบทวิภาคีให้เกิดผลสัมฤทธิ์
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ : การส่งเสริมบทบาทของไทยในการเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ร่วมกันภายใต้ความร่วมมือในภูมิภาคและอนุภูมิภาค
ยุทธศาสตร์ที่ ๓ : การส่งเสริมความร่วมมือกับหุ้นส่วนคู่ร่วมมือของไทยอย่างครอบคลุมและเน้นประสิทธิผล
ยุทธศาสตร์ที่ ๔ : การขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG)
ยุทธศาสตร์ที่ ๕ : การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์ ส่งเสริมและพัฒนาการวิจัยอย่างบูรณาการองค์ความรู้
ยุทธศาสตร์ที่ ๖ : การพัฒนาระบบการบริหารความร่วมมือที่เป็นระบบและมีมาตรฐาน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นความสำคัญของการบูรณาการข้อมูลความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการของไทย (Thailand’s ODA) เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ไทยในเวทีระหว่างประเทศ และเห็นควรให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการฯ เพื่อบูรณาการข้อมูลดังกล่าวต่อไป
อนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบาย ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการกับต่างประเทศ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทั้ง ๒ ด้าน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการกับต่างประเทศ เพื่อให้มีการสานต่อนโยบายจากคณะกรรมการนโยบายฯ ไปสู่ระดับปฏิบัติอย่างครบกระบวนการ โดยคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง ๒ ด้าน ดังกล่าว มีอำนาจหน้าที่ในการให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทาง และกลไกในการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไทยด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม เสนอความเห็ฯเกี่ยวกับการจัดทำแผนความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ รวมถึงการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการ แผนงาน กิจกรรมภายใต้แผนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไทยกับประเทศต่าง ๆ
โดยเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง ๒ ด้าน จะรวบรวมความเห็นและมติที่ประชุม เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการกับต่างประเทศ ต่อไป
รูปภาพประกอบ