การประชุมรับฟังความเห็นต่อการพัฒนาหลักสูตรสำหรับฝึกอบรมวิชาการวางแผนพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕

การประชุมรับฟังความเห็นต่อการพัฒนาหลักสูตรสำหรับฝึกอบรมวิชาการวางแผนพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.พ. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 753 view

เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ นางอรุณี ไฮม์ม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรับฟังความเห็นต่อการพัฒนาหลักสูตรสำหรับฝึกอบรมวิชาการวางแผนพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕ จัดโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ ห้องประชุม ๓ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยหน่วยงานไทย อาทิ กระทรวงมหาดไทยระดับส่วนกลางและท้องถิ่น และภาควิชาการของไทย

การประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความเห็นต่อร่างหลักสูตรสำหรับฝึกอบรมวิทยากร การวางแผนพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน (Livable and Sustainable Future City: LSFC) ซึ่งมุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพด้านการวางแผนพัฒนาเมืองแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ

ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการฝึกอบรมวิทยากรและสร้างเครื่องมือที่ชัดเจนเพื่อเผยแพร่ความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาเมืองในอนาคตที่น่าอยู่และยั่งยืนให้แก่ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยการให้ความรู้ด้านระบบเมือง พลวัตการเปลี่ยนแปลง กระบวนการที่เกี่ยวข้อง อาทิ การกำหนดขอบเขตการวางแผนพัฒนาที่คำนึงถึงความเชื่อมโยงทางนิเวศ เศรษฐกิจและสังคม ระบบการบริหารราชการแผ่นดิน ระบบการจัดสรรงบประมาณ เป็นต้น รวมถึงการกำหนดตัวชี้วัดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals – SDGs) รวม ๑๗ เป้าหมาย

หลักสูตรการฝึกอบรมดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน (LSFC) ซึ่ง สศช. ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ ซึ่งนับเป็นโครงการที่พัฒนาต่อยอดมาจากโครงการระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนของการพัฒนาเมืองในอนาคต (The Project for Promoting Sustainability in Future Cities of Thailand: TFCP) โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และ สศช. ซึ่งเป็นโครงการระยะเวลา ๖ ปี ดำเนินการระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๖๔ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนากลไกการพัฒนาเมืองในอนาคตอย่างยั่งยืน ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ของญี่ปุ่น

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ