ความร่วมมือระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ความร่วมมือระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 เม.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 เม.ย. 2566

| 1,423 view
เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๖ นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ประชุมหารือกับ ผศ. ดร. ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พร้อมทั้ง คณบดี คณะผู้บริหาร คณาจารย์คณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อกระชับความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ในการดำเนินงาน ตลอดจนโอกาสการขยายความร่วมมือกันในอนาคต โดยมี นางสาวพัชรา โกศินานนท์ ผอ. กองความร่วมมือด้านทุน และเจ้าหน้าที่จากกองต่าง ๆ เข้าร่วมด้วย
 
ในการดำเนินงานที่ผ่านมา กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ร่วมมือกันดำเนินงานโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในด้านการเกษตรและด้านประมงให้แก่กัมพูชา และ สปป.ลาว รวมทั้งได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับโครงการของมหาวิทยาลัยฯ ในประเทศไทยที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในด้านการพัฒนาท่องเที่ยวเชิงเกษตร
 
ในโอกาสนี้ได้หารือแนวทางในการดำเนินงานความร่วมมือระหว่างกัน ดังนี้
(๑) การพิจารณาส่งข้อเสนอหลักสูตรต่าง ๆ สำหรับทุนศึกษาระดับปริญญาโทนานาชาติ (TIPP) และทุนฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (AITC) สำหรับการจัดทำแผน ๓ ปีฉบับใหม่ (๒๕๖๙ - ๒๕๗๑) ในสาขาที่มหาวิทยาลัยฯ มีศักยภาพ และสอดคล้องกับสาขาที่ TICA ให้ความสำคัญในปัจจุบัน
(๒) การจัดหลักสูตรฝึกอบรมหรือศึกษาดูงานให้แก่ประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือภูมิภาคที่ไทยมีบทบาทสำคัญในปัจจุบัน เช่น ACMECS และ BIMSTEC ในสาขาที่มหาวิทยาลัยฯ มีความเชี่ยวชาญและ TICA ให้ความสำคัญ เช่น โมเดลเศรษฐกิจ BCG การท่องเที่ยวชุมชน การจัดการสิ่งแวดล้อม การดูแลผู้สูงวัยการแพทย์แผนไทย/สมุนไพรไทย การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนตาม “เขมราฐโมเดล”
(๓) การร่วมให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาโทแบบ Co-payment แก่ประเทศที่เป็นยุทธศาสตร์/มีข้อผูกพันอยู่ เช่น กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ภูฏาน และติมอร์ - เลสเต
(๔) การร่วมสนับสนุนการให้ทุนศึกษาระดับปริญญาตรี ในโอกาสฉลองครบรอบความสัมพันธ์ ๗๐ ปี ไทย - สปป.ลาว ในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ นิติศาสตร์ และแพทยศาสตร์
(๕) การจัดหลักสูตรการเรียนเตรียมความพร้อมทักษะการใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้แก่ผู้รับทุนภายใต้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ทวิภาคีไทย - ลาว ก่อนเข้าศึกษาระดับปริญญาโท (หลักสูตรภาษาไทย)
 
นอกจากนี้ อธิบดี TICA ได้เยี่ยมชมโครงการและวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ใน ๓ พื้นที่ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ดีของจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อนำไปความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดในโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของ TICA ได้แก่
(๑)โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" แปลงศูนย์เรียนรู้ระดับตำบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) ของนายแกล้วกล้า บัวศรี เจ้าของแปลง ฮักแพง ฮ่องย่า นาหนองไผ่ ซึ่งได้ใช้พื้นที่ของตนเองจำนวน ๑๕ ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านโคกสว่าง หมู่ที่ ๒ ต.โนนกุง อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี จากเดิมที่เป็นพื้นที่แห้งแล้งทำนาเกษตรเชิงเดี่ยว สู่การเกษตรผสมผสานตามหลักทฤษฎีใหม่ ซึ่งมีการต่อยอดพัฒนาระบบน้ำ การกักเก็บน้ำ และแผงโซล่าร์เซลล์ รวมถึงการปลูกผลไม้ พืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ ต้นไม้เศรษฐกิจ และการเลี้ยงปลาในหนองและคลองไส้ไก่ เพื่อบริโภคภายในครัวเรือนและจำหน่ายในชุมชน
(๒) วิสาหกิจชุมชน กลุ่มสตรีพัฒนาบ้านโพธิ์เมือง เฮือนชูฮัก ตั้งอยู่ที่ หมูที่ ๙ บ้านโพธิ์เมือง ต.นาแวง อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี เป็นการรวมกลุ่มสตรีในหมู่บ้านโพธิ์เมือง เพื่อสืบสานศิลปะหัตถกรรมการทอผ้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่น และมีการรวบรวมลายผ้าจากรุ่นสู่รุ่น จึงกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชน โดยวิสาหกิจดังกล่าวได้เข้าร่วมโครงการการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมเชิงพื้นที่ อ.เขมราฐ ของ ม. อุบลราชธานี ซึ่งได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับการบริหารจัดการอาชีพเพื่อยกระดับและพัฒนาภายในชุมชน และ
(๓) เยี่ยมชมวิถีวัฒนธรรมและเขมราษฎร์ธานีซึ่งเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาวอำเภอเขมราฐชุมชนเก่าแก่ริมน้ำโขง มีการออกร้านจำหน่ายสินค้า OTOP พื้นบ้าน ผ้าทอ สินค้าหัตถกรรมจากชาวบ้าน รวมไปถึงการแสดงทางวัฒนธรรมและการจัดนิทรรศการภาพเก่าของ อ. เขมราฐ ด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ