การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อประสานแผนการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนากสิกรรมพื้นที่สูง (หนองหิน) เมืองปากซอง แขวงจำปาสัก

การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อประสานแผนการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนากสิกรรมพื้นที่สูง (หนองหิน) เมืองปากซอง แขวงจำปาสัก

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ส.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 11 ส.ค. 2565

| 485 view

เมื่อวันที่ ๗ – ๘ สิงหาคม ๒๕๖๕  ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และ ดร. สีคำตาด มิตาไล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยจำปาสัก  เป็นประธานร่วมฝ่ายไทยและลาว ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อประสานแผนการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนากสิกรรมพื้นที่สูง (หนองหิน) เมืองปากซอง แขวงจำปาสัก โดยมี ดร. จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ดร.บุนมี พอนสะหวัน อธิการบดีมหาวิทยาลัยจำปาสัก นายวัฒนวิทย์  คชเสนี รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ นายอธิปัตย์ โรจนไพบูลย์ กงสุลใหญ่  ณ แขวงสะหวันนะเขต และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายไทยและลาวเข้าร่วมด้วย

การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้เป็นการจัดครั้งแรกหลังจากการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID - 19 เพื่อทบทวนภาพรวม นโยบาย ยุทธศาสตร์ และทิศทางการดำเนินงาน เป้าหมาย ผลผลิต ผลลัพธ์จากการดำเนินงาน และร่วมกันจัดทำแผนฟื้นฟูและแผนแม่บทในการพัฒนาศูนย์ศึกษาการพัฒนากสิกรรมพื้นที่สูงเมืองปากซอง แขวงจำปาสัก   ในการนี้ ดร. สุเมธฯ  เน้นย้ำในการกล่าวเปิดการประชุมฯว่า การพัฒนาการเกษตรเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ประชาชนมีอาหารบริโภคไม่อดอยาก แม้ในยามที่ทั่วโลกประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID - 19 หรือการเกิดสงครามยูเครนจะทำให้ประชาชนอดอยาก หากประชาชนทำการเกษตรจะมีความมั่นคงทางอาหาร

นายวัฒนวิทย์ฯ รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้ร่วมอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของกรมความร่วมมือฯ ในการกำหนดทิศทางและแผนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทยโดยมีกลไกระดับนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการกับต่างประเทศซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเป็นประธาน และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อให้การดำเนินงานความร่วมมือกับต่างประเทศเป็นไปอย่างบูรณาการและสอดประสานกัน สำหรับการดำเนินความร่วมมือเพื่อการพัฒนาใน สปป.ลาวมีกลไกการประชุมความร่วมมือทางวิชาการ ไทย – ลาว ซึ่งจัดขึ้นทุก ๆ ๑๘ เดือน เพื่อขับเคลื่อนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาโดยจะมีการจัดทำแผนความร่วมมือ สาขาและโครงการที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญร่วมกัน ทั้งนี้ ในการการดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนา จะเน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การออกแบบโครงการ และการดำเนินกิจกรรมร่วมกันเพื่อให้ประเทศและหน่วยงานคู่ร่วมมือมีความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการ โดยมีการประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการ (Project Steering Committee –PSC) ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานฝ่ายไทยและฝ่ายลาวที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความเห็นชอบแผนงานโครงการ และขับเคลื่อนการดำเนินงาน รวมทั้งให้คำแนะนำและติดตามการดำเนินกิจกรรมให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด

การประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวได้แบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๓ กลุ่ม ได้แก่  กลุ่มที่ ๑ ระดับนโยบาย ภาพรวมนโยบาย ยุทธศาสตร์และทิศทางการดำเนินงาน (ผู้บริหารระดับสูง)  กลุ่มที่ ๒ แผนการบริหาร และแผนการผลิตของศูนย์ฯ และกลุ่มที่ ๓ แผนการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้และฝึกอบรมภายใต้ MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยจำปาสัก และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งฝ่ายไทยและลาวในการดำเนินการศูนย์ฯ ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในการจัดทำแผนงานการพัฒนาศูนย์ฯ ดังกล่าว

ทั้งนี้ ผลลัพธ์จากการประชุมครั้งนี้ คือ ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันจัดทำแผนงานโครงการ ซึ่งประกอบด้วย (๑) แผนงานฟื้นฟู (๒) โครงสร้างอัตรากำลัง (๓) แผนงานหลักสูตรการเรียนรู้และการฝึกอบรม (๔) แผนการผลิตเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนและการวิจัย เพื่อดำเนินการพัฒนาศูนย์ฯ ให้พร้อมก่อนส่งมอบศูนย์ฯ ให้รัฐบาลลาวในปี ๒๕๖๗ โดยมูลนิธิชัยพัฒนามุ่งหวังที่จะให้ฝ่ายลาวให้ความสำคัญและรับช่วงการดำเนินงานให้เกิดความต่อเนื่อง โดยมีกรมความร่วมมือฯเข้ามามีส่วนร่วมเป็นระยะๆและให้การสนับสนุนในโอกาสต่อไป

อนึ่ง โครงการดังกล่าว เป็นหนึ่งในหลายโครงการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ ทั้งนี้ สำหรับศูนย์ศึกษาฯดังกล่าวเป็นโครงการพระราชดำริฯที่ให้มูลนิธิชัยพัฒนาเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนงบประมาณและดำเนินโครงการฯร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรมประมง  โดยมีมหาวิทยาลัยจำปาสักเป็นหน่วยปฏิบัติงานฝ่ายลาว เพื่อร่วมพัฒนาโครงการฯ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ โดยปัจจุบันโครงการได้ดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน อาคารอเนกประสงค์ อาคารหอพักนักศึกษา และสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน เพื่อให้มีความพร้อมในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิชาการให้แก่นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ รวมทั้งการขยายผลสู่ภาคการเกษตรของ สปป. ลาวในพื้นที่โดยรอบของโครงการฯ อีกด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ