วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ต.ค. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๔ นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดี พร้อมด้วยนายชีวินท์ ณ ถลาง รองอธิบดี และผู้แทนจากกลุ่มงานต่าง ๆ ของกรมความร่วมมือระหว่างปนะเทศ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มธุรกิจครัวเรือนด้วยเทคโนโลยีการอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ (Parabola dome) โดยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในกาบริหารจัดการฟาร์ม และการวางแผนการผลิตเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จังหวัดนครปฐม
การดูงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการนำเทคโนโลยีโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ในลักษณะ Parabora dome มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับการพัฒนาการเกษตรของไทยเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันตามตามนโยบาย Bio – Circular – Green Economy (BCG) อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นตัวอย่างที่ดีของไทยให้แก่ประเทศคู่ร่วมมือต่าง ๆ ที่สนใจอีกด้วย เช่น ประเทศเซเนกัล ซึ่งกรมความร่วมมือฯ ได้เผยแพร่ความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี Parabora dome ไปใช้ในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งการดูงานดังกล่าวมีสาระที่น่าสนใจ ดังนี้
๑. การเยี่ยมชมที่ Green Living Camp (ฟาร์มเกษตรอินทรีย์) คุณกุลนธี ศุภรัตนชาติพันธ์ ได้พาเยี่ยมฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ซึ่งพื้นที่ฟาร์มเดิมเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง เมื่อเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี ๒๕๔๐ ทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจฟาร์มกุ้งได้ คุณกุลนธีฯ สนใจที่จะทำการเกษตรแบบอินทรีย์แต่ไม่มีพื้นฐานทางการเกษตรทำให้ต้องศึกษาหาความรู้และทดลองการปลูกพืชในพื้นที่ที่เคยเป็นบ่อกุ้ง และใช้หลักปรัชญยาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการทำการเกษตรที่เน้นความเหมาะสม ความมีเหตุผล และความพอเพียง ในการทดลองปลูกช้าวอินทรีย์ และปลูกพืชอื่น ๆ ในลักษณะเกษตรผสมผสาน ตามกำลังที่สามารถดูแลได้ ทำให้ปัจจุบันได้เลือกการปลูกข้าวหอมมะลิแดง ข้าวปิ่นเกษตร ข้าวไร๊ซ์เบอร์รี่ กล้วย ผลไม้ ชาสมุนไพร และแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร โดยใช้โรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์และโรงเรือนตามมาตรฐาน GMP
สินค้าของฟาร์มได้ส่งออกไปยังต่างประเทศ ได้รับมาตรฐานออแกนิคระดับสากลทั้ง IFOAM, EU, Canada และ USDA ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ ได้จำหน่ายผลผลิตบนเวปไซต์ amazon.com ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และสิงคโปร์ การเป็นเกษตรกรของคุณกุลนธีฯ ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาการเกษตรในการสนับสนุนองค์ความรู้ และเทคนิคการติดตั้ง Parabora dome จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และมหาวิทยาลัยศิลปากร (คณะวิทยาศาสตร์) สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) และการพัฒนาระบบการตรวจย้อนกลับจากกระทรวงพาณิชย์ ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยั่งยืน
๒. การเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนดอนตูม คุณประยงค์ วงษ์สกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดอนตูม ได้บรรยายความเป็นมาของการปลูกมะเขือเทศราชินีและพาเยี่ยมชมแปลงปลูกมะเขือเทศราชินี และโรงงานคัดแยกและบรรจุภัณฑ์สินค้า “มะเขือเทศราชินีแช่อิ่มอบแห้งตราแม่ฉุย” ซึ่งได้รับรางวัลสินค้าโอทอป ระดับ ๕ ดาว ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP เป็นมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีในการปลูกพืช ที่เกิดขึ้นจากความคิดที่กล้าเปลี่ยนแปลง นำหลักการถนอมอาหารของคนสมัยก่อนมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ และรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยได้ใช้คำสอนชองแม่ คือ “ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน และกตัญญู” ในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ลูกๆ ในการสืบต่ออาชีพเกษตรกร อีกทั้งยังได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานรากของการจัดการภายในองค์กรและชุมชน ทำให้เกิดความเข้มแข็งด้านการพึ่งพาตนเอง โดยการใช้โรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ในการช่วยลดการใช้พลังงาน ประหยัดแรงงาน สามารถควบคุมสภาพแวดล้อม
นอกจากนี้ คุณประยงค์ฯ ให้ความสำคัญต่อการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อขยายกำลังการผลิตมะเขือเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ที่ผ่านมาวิสาหกิจชุชมชนดอนตูมได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้และความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคการติดตั้งเทคโนโลยีพาราโบราโดมจากจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และมหาวิทยาลัยศิลปากร (คณะวิทยาศาสตร์) รวมทั้งได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ และงบประมาณในการพัฒนาการทำการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตจากสำนักงานเกษตรอำเภอดอนตูม
การศึกษาดูงานดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งต่อผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกรมความร่วมมือฯ ในการวางแผน กำหนดนโยบาย และดำเนินงานส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงร่วมกับประเทศคู่ร่วมมือที่สนใจในเรื่องดังกล่าวในอนาคต
รูปภาพประกอบ