การหารือทางไกลเพื่อให้การปรึกษาทางการแพทย์แก่เมียนมา ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ Strengthening Preparedness and Response to Pandemic of COVID-19

การหารือทางไกลเพื่อให้การปรึกษาทางการแพทย์แก่เมียนมา ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ Strengthening Preparedness and Response to Pandemic of COVID-19

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 พ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 924 view

วันที่ 27 พ.ย. 2563 กรมความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดการให้การปรึกษาทางการแพทย์แก่บุคลากรทางการแพทย์ของเมียนมา  ซึ่งกิจกรรมนี้อยู่ภายใต้แผนงานโครงการความร่วมมือกับเมียนมาเพื่อรับมือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)  ได้มีดำเนินการจัดแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563  มี พญ. นฤมล สรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ เป็นผู้เชี่ยวชาญหลักของฝ่ายไทย มีบุคลากรทางการแพทย์ของเมียนมาเข้าร่วมประมาณ 30 คน โดยเป็นการแบ่งปันประสบการณ์ในเรื่อง หลักการในการพัฒนาแนวเวชปฏิบัติ (Clinical Practice Guideline - CPG) ของไทย รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยา Favipiravir ที่รัฐบาลไทยได้สนับสนุนแก่เมียนมา 70,000 เม็ด

สำหรับครั้งที่ 2  มี นพ. สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานการหารือ นพ. ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี พญ. นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ พญ. เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ นายแพทย์เชี่ยวชาญสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ เป็นผู้เชี่ยวชาญหลักของฝ่ายไทยในการให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยโรค COVID-19 โดยมีประเด็นหลักของการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการรักษาผู้ป่วยวิกฤตและการติดเชื้อในปอด

การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง ซึ่งฝ่ายเมียนมาได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยในครั้งนี้ มีบุคลากรทางการแพทย์จากมหาวิทยาลัยทางการแพทย์จากเมียนมา โรงพยาบาลต่าง ๆ ในกรุงย่างกุ้ง และโรงพยาบาลระดับเมือง เช่น รัฐยะไข่ มัณฑะเลย์ ทวาย เมียวดี กว่า 50 คนเข้าร่วม โดยการบรรยายของผู้เชี่ยวชาญไทยแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อ ดังนี้

1. การควบคุมและการบริหารจัดการการระบาดของโรค COVID-19 โดย นพ. ทวี โชติพิทยสุนนท์ ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลภาพใหญ่ของหลักการการควบคุมและบริหารจัดการโรค COVID-19 ในเชิงการแพทย์ของไทย และหลักการในการพัฒนาแนวเวชปฏิบัติ (Clinical Practice Guideline - CPG) ของไทย ซึ่งปรับรูปแบบจากข้อแนะนำของ WHO ให้เข้ากับบริบทและความเห็นทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ของบุคลากรทางการแพทย์ของไทย

2. การยกตัวอย่างแนวทางการรักษาเคสผู้ป่วยโควิดหนักของโรงพยาบาลทรวงอก ซึ่งใช้แนวทางการรักษาของ CPG ที่ไทยประกาศใช้

หลังจากการบรรยายบุคลากรทางการแพทย์เมียนมาได้สอบถามข้อมูลเชิงเทคนิคอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประเด็นการใช้ยาต่าง ๆ การตัดสินใจแนวทางการรักษาสำหรับคนไข้วิกฤต แนวทางในการลดอัตราการตาย แนวทางการรักษาคนไข้เด็ก และสตรีทีครรภ์ การใช้ plasma ในการรักษา เป็นต้น  สำหรับการจัด Medical Consultation  ครั้งที่ 3 มีกำหนดจัดในวันที่ 16 ธันวาคม 2563  ซึ่งเป็นไปตามคำขอของเมียนมา

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ