กิจกรรมการศึกษาดูงานด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี บึงกาฬ และสกลนคร ให้แก่คณะบุคลากรจากกรมป่าไม้ กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สาธารณัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)

กิจกรรมการศึกษาดูงานด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี บึงกาฬ และสกลนคร ให้แก่คณะบุคลากรจากกรมป่าไม้ กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สาธารณัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 มี.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 8 มี.ค. 2566

| 508 view

เมื่อวันที่ 6 - 12 กุมภาพันธ์ 2566 กรมความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกับกรมป่าไม้ ได้จัดกิจกรรมการศึกษาดูงานด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี บึงกาฬ และสกลนคร ให้แก่คณะบุคลากรจากกรมป่าไม้ กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สาธารณัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ในโครงการด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ร่วมกับ สปป. ลาว ภายใต้แผนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย - ลาว ระยะ 3 ปี

การศึกษาดูงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะบุคลากรจากกรมป่าไม้ สปป. ลาว เรียนรู้และศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีของไทยในด้าน (1) การจัดการไฟป่าและป่าชุมชน ณ ตำบลกุดหมากไฟ อ. หนองวัวซอ จ. อุดรธานี ซึ่งเป็นความร่วมมือของ 11 หมู่บ้านในตำบลพัฒนาเครือข่ายป้องกันไฟป่าระหว่างหมู่บ้านกับหมู่บ้านและหมู่บ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ (กรมป่าไม้) และศึกษาการทำแนวกันไฟเพื่อรักษาป่าต้นน้ำลำห้วยหลวง อันเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของ จ. อุดรธานี (2) การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ณ บ้านห้วยเล็บมือ อ. บุ่งคล้า จ. บึงกาฬ โดยได้ศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยการพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากป่า ได้แก่ สบู่และชาจากต้นสิรินธรวัลลี (ต้นไม้ประจำ จ. บึงกาฬ) และ (3) ด้านวนเกษตร โดยเน้นที่การจัดการพื้นที่ป่าเพื่อการทำวนเกษตร เจ้าหน้าที่จากศูนย์การศึกษาพัฒนาภูพานฯ ได้สาธิตการแปรรูปไม้เป็นเชื้อเพลิง การผลิตถ่านจากไม้โตเร็ว และสาธิตการเพาะเห็ดระโงกเหลืองในกล้าไม้ยางนา ซึ่งเป็นเห็ดที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนได้ดี ภายหลังการศึกษาดูงานคณะศึกษาดูงานร่วมกันสรุปผลการศึกษาดูงานและหารือเพื่อจัดทำแผนต่อยอดการดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ภายใต้โครงการ

การดำเนินโครงการอนุรักษ์ป่าไม้กับ สปป. ลาว สอดคล้องกับ “เป้าหมายกรุงเทพฯ เรื่องเศรษฐกิจ BCG” เป้าหมายที่ 3 การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นเอกสารที่ไทยเป็นผู้ริเริ่มในการประชุม APEC 2022 การดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการดังกล่าวจึงมีส่วนช่วยส่งเสริมนโยบายของไทยได้เป็นอย่างดี

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ