วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ธ.ค. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 ธ.ค. 2566
เมื่อวันที่ 12 – 15 ธันวาคม 2566 กรมความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) และกรมพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรมและท่องเที่ยวของ สปป.ลาว (Tourism Development Department, Ministry of Information, Culture and Tourism) (MICT) จัดกิจกรรมระดมแนวคิดแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชนและและถ่ายทอดความรู้แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการ Community - Based Ecotourism ณ เมืองเฟือง สปป.ลาว
การจัดกิจกรรมดังกล่าว ประกอบด้วย กิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม ดังนี้
(1) การระดมความคิดแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชนและถ่ายทอดความรู้แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีผู้แทนจาก อพท. ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐของ สปป. ลาว ทั้งในระดับนครหลวงเวียงจันทน์ ระดับแขวงเวียงจันทน์ และระดับเมืองเฟือง รวมทั้งผู้ประกอบการ และชุมชนจากบ้านสามหมื่นและบ้านนาใหม่เข้าร่วม ในโอกาสดังกล่าว ผู้แทนกรมความร่วมมือฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองเฟือง และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของฝ่ายลาว ทั้งในระดับภาครัฐและชุมชน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายโครงการในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างรับผิดชอบของเมืองเฟืองสู่มาตราฐานการท่องเที่ยวระดับสากล
(2) การจัดฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชน โดย อพท. ได้นำเสนอ แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) เครื่องมือการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) รูปแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวและการจัดการแหล่งท่องเที่ยวตามมาตรฐานสากล (Best Tourism Villages by The United Nations World Tourism Organization : UNWTO) มีการนำเสนอตัวอย่างการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของไทยที่มีบริบทสอดคล้องกับเมืองเฟือง อาทิ จักสานบ้านต้าม จังหวัดน่าน การทอผ้าตีนจกไทยพวน จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีการพัฒนาและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับภูมิปัญญาและวิถีชีวิตชองชุมชน เป็นกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ลงมือปฏิบัติ สัมผัสประสบการณ์และเรียนรู้
(3) กิจกรรมการประเมินการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community – Based Tourism : CBT) เป็นการร่วมประเมินศักยภาพการท่องเที่ยวสำหรับบ้านสามหมื่นและบ้านนาใหม่กับภาครัฐของฝ่ายลาวและชุมชน โดยใช้เกณฑ์การพัฒนา การท่องเที่ยวโดยชุมชน 6 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย
(1) ด้านการบริการจัดการอย่างยั่งยืน
(2) ด้านการกระจายผลประโยชน์สู่ท้องถิ่น สังคม และส่งเสริมคุณภาพชีวิต
(3) ด้านการอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรม
(4) ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
(5) ด้านบริการและความปลอดภัย และ
(6) ด้านผู้ประกอบการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยวและเส้นทางการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับบริบทของบ้านสามหมื่นและบ้านนาใหม่ต่อไป
โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงนิเวศในพื้นที่เมืองเฟืองสู่มาตรฐานระดับสากลและส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ระยะเวลาดำเนินโครงการปี 2566 - 2568 โดยมุ่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) จำนวน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 1 : ยุติความยากจน (No Poverty) เป้าหมายที่ 11 : ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities) และเป้าหมายที่ 17 : เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnerships for the Goals)
รูปภาพประกอบ