ข้อมูลการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD) : การให้ทุน AITC

ข้อมูลการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD) : การให้ทุน AITC

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ส.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 ต.ค. 2565

| 10,056 view

โครงการหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Course : AITC) ปี ๒๕๖๓

          โครงการหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Course : AITC) เป็นรูปแบบหนึ่งของการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไทย โดยเป็นการถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการให้แก่ประเทศคู่ร่วมมือที่ต้องการองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญ และสามารถแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ให้แก่ประเทศที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ได้เข้ามาฝึกอบรมและศึกษาดูงานที่ประเทศไทย ประมาณ ๒๐-๓๐ หลักสูตรต่อปี โดยจำแนกได้ ๕ เรื่อง (Theme) ดังนี้

          ๑. Sufficiency Economy Philosophy (SEP)

          ๒. Food Security

          ๓. Climate Change

          ๔. Public Health

          ๕. Other SGDs

โดยโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อ

          ๑. กระชับความสัมพันธ์กับประเทศยุทธศาสตร์และประเทศที่ยังมีความร่วมมือกับประเทศไทยไม่มากนัก

          ๒. เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางวิชาการของไทยในเวทีระหว่างประเทศ

          ๓. ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนาของไทยให้กับประเทศคู่ร่วมมือเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก

          กรมความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกับสถาบันทางวิชาการและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของไทยที่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นการพัฒนาต่าง ๆ ดำเนินการจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้กับผู้รับทุนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

          เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-๑๙ ในปี ๒๕๖๓ ส่งผลกระทบต่อการเดินทางระหว่างประเทศ ผู้เข้าร่วมอบรมไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการฝึกอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการปรับการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ จึงได้เพิ่มรูปแบบการฝึกอบรมแบบระบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรม โดยในปี ๒๕๖๓ ได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน ๑๐ หลักสูตร ซึ่งเป็นแบบระบบออนไลน์ จำนวน ๙ หลักสูตร โดยเป็นหลักสูตรฝึกอบรมที่มุ่งเน้นการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-๑๙ และการเตรียมความพร้อมสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาในยุคหลัง COVID-๑๙ (Post COVID)

 

001_2

จำนวนผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมจำแนกตามภูมิภาค ประจำปี ๒๕๖๓

 

          ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมมีจำนวนทั้งสิ้น ๔๐๑ คน จาก ๗๐ ประเทศ และพบว่ามีประเทศ จำนวน ๕ ประเทศ ที่เข้าร่วมโครงการเป็นครั้งแรก ได้แก่

          ๑. ญี่ปุ่น

สาขา Public Health : Online International Training Course on Collaborative and Development of Health System: How to Strengthen the Capacity of Public Health Personnel during the COVID-๑๙

          ๒. กาตาร์

สาขา Public Health : Community Empowerment to Strengthen Maternal and Neonatal Health Care during The Covid-๑๙

สาขา SEP : The New Normal with Sustainable Community – based Eco-tourism Development

สาขา SDGs : Good Practices in Improving Labour Migration Management for Promoting Decent Work

          ๓. กรีซ

สาขา SEP : The New Normal with Sustainable Community – based Eco-tourism Development

          ๔. เยเมน

สาขา SEP : The New Normal with Sustainable Community – based Eco-tourism Development

          ๕. ออสเตรเลีย

สาขา Public Health : Community Empowerment to Strengthen Maternal and Neonatal Health Care during The Covid-๑๙

          ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการฝึกอบรมผ่านระบบออนไลน์ทำให้สามารถขยายจำนวนประเทศที่เข้าร่วมรับการฝึกอบรมเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยสามารถขยายบทบาทความร่วมมือทางวิชาการและองค์ความรู้กับต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น ภายใต้การดำเนินงานวิถีใหม่ (New Normal)