คณะผู้แทนกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ศึกษาดูงานโรงกำจัดขยะผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมหนองแขม

คณะผู้แทนกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ศึกษาดูงานโรงกำจัดขยะผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมหนองแขม

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 มิ.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 13 มิ.ย. 2567

| 307 view

เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๗ นางสาว พิณ ศรีดุรงคธรรม เลขานุการกรมความร่วมมือระหว่างประเทศนำคณะเจ้าหน้าที่กรมฯ เข้าศึกษาดูงานการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Economy Model ด้านพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ ที่โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมหนองแขม

คณะผู้แทนกรมความร่วมมือฯ ได้รับเกียรติจากนายรัฐพล ชัยวุฒิธร ผู้จัดการโรงงาน ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปความเป็นมาของโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมหนองแขม รวมถึงกระบวนการเปลี่ยนขยะครัวเรือนให้เป็นพลังงานไฟฟ้าที่ศูนย์เรียนรู้โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมหนองแขม ปัจจุบันโรงกำจัดขยะฯ ดำเนินการโดยบริษัท ซีแอนด์จี เอนไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด โดยได้รับสัมปทานกำจัดขยะจากกรุงเทพมหานคร เป็นเวลา 20 ปี ในรูปแบบการลงทุนแบบ BOT (Build-Operate-Transfer) เมื่อหมดสัญญาสัมปทานจะโอนเทคโนโลยีทั้งหมดให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการต่อ มีกำลังรองรับขยะครัวเรือนได้ 300 – 500 ตันต่อวัน จาก 6 เขต ได้แก่ หนองแขม ทวีวัฒนา บางแค บางกอกใหญ่ บางกอกน้อย ภาษีเจริญ และบางรัก เพื่อนำมากำจัดและผลิตไฟฟ้า ผ่านเทคโนโลยีเตาเผาแบบตะกรับ (Stoker Type) จำนวน 2 ชุด แต่ละชุดสามารถกำจัดขยะได้ 250 ตันต่อวัน ใช้อุณหภูมิความร้อนที่ 850 - 1,000 องศาเซลเซียส ซึ่งความร้อนที่ได้จากกระบวนการเผาไหม้ในระบบปิดจะถูกนำไปใช้ต้มน้ำที่หม้อต้มไอน้ำแรงดันสูง (Boiler) เพื่อป้อนให้กังหันไอน้ำของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Turbine) ขนาดกำลังผลิต 9.8 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ โรงกำจัดขยะฯ มีระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถนำน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดมาใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภคเกษตรกรรม หรือปล่อยสู่ลำน้ำสาธารณะ และระบบควบคุมมลพิษทางอากาศ โดยมีการติดตามตรวจวัดด้านสิ่งแวดล้อมทั้งด้านคุณภาพน้ำ อากาศและเสียง ให้อย่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ภาครัฐกำหนด

โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมหนองแขมเป็นองค์กรที่มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ในการนำขยะครัวเรือนเข้าสู่กระบวนการกำจัดเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่ยังสามารถช่วยลดผลกระทบของน้ำท่วมขังอันเกิดจากปัญหาขยะมูลฝอยอุดตันในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเหมาะสมที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้และต้นแบบขององค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมให้แก่ผู้สนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Economy Model ด้านพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และสามารถเป็นแนวทางการส่งเสริมและขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยกับประเทศคู่ร่วมมือในอนาคต

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ